สวัสดีครับเพื่อนๆ คำว่า “โบสถ์” และ “วิหาร” สร้างความสับสนอยู่บ่อย ๆ ให้กับเหล่าสายบุญ บางวัดมี “อุโบสถ” เป็นศัพท์เพิ่มเข้ามาอีก เวลาถ่ายรูปเช็กอินถึงกับต้องเข้าไปดูข้อมูลให้แน่ใจว่านี่โบสถ์วัดนี้นะ นั่นวิหารวัดนั้น ส่วนนี่อุโบสถ ฯลฯ เรามาเพิ่มทักษะสายมูกันหน่อย แท้จริงแล้วโบสถ์ , วิหาร และอุโบสถ มีความต่างกันอย่างชัดเจนจนสามารถดูด้วยสายตาภายนอกได้ โดยไม่ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ไหนเลย เริ่มจาก วิหาร กับ โบสถ์ กันก่อน คำว่าโบสถ์มีลักษณะเฉพาะคือมี “ใบเสมา” เป็นเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบกิจของสงฆ์ ซึ่งต้องทำในเขตพัทธสีมาเช่นการอุปสมบท หรือสวดปาติโมกข์ (ทบทวนศีล 227 ข้อ) ที่แต่ละวัดต้องทำเดือนละ 2 ครั้ง ถือเป็นเขตแดนของสงฆ์ ตามความเชื่อคนโบราณถือว่าใบเสมาป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่จะมาก่อกวนทำอันตรายกับพิธีกรรมได้ เหมือนเวลาดูหนังคนวิ่งหนีผีเข้ามาในเขตเสมาแล้วปลอดภัย ผีไม่กล้าเข้าไปนั่นแหละครับ ส่วนคำว่า วิหาร ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ จะไม่มีใบเสมาอยู่ตามทิศโดยรอบ นั่นคือถ้าไม่มีใบเสมาเราจะไม่สามารถเรียกว่าเป็นโบสถ์ได้ และจุดสังเกตอีกอย่างคือพระประธานในโบสถ์จะเป็นองค์พระพุทธเจ้า หากเราไปเห็นหลวงปู่ทวด หรือหลวงพ่อโตเป็นพระองค์ใหญ่ด้านใน นั่นคือยังไงก็ไม่ใช่โบสถ์แน่ ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกมาเดินสำรวจรอบบริเวณเลย ด้วยความเป็นพื้นที่ของสงฆ์บางวัดจะไม่ได้เปิดโบสถ์ให้ฆราวาส (คนที่ไม่ใช่นักบวช) เข้าไปด้วยซ้ำ โดยสรุปคือ “โบสถ์ก็คือโบสถ์” และวิหารก็คือวิหาร จะมีใครบอกว่าในวัดเหมือนกันเรียก ๆ ไปเถอะนี่ไม่ได้แน่นอนครับมาถึงคำว่า โบสถ์ กับ อุโบสถ ถ้าเอาตามพจนานุกรมแบบเป๊ะ ๆ คือคำเดียวกัน แต่นับตามสมัยนิยมมีจุดต่างกันเล็กน้อย ทบทวนเมื่อสักครู่กันก่อน “ใบเสมาเป็นเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบกิจของสงฆ์ นั่นคือความเป็นโบสถ์ไม่จำเป็นต้องมีอาคารใหญ่โตโอ่โถงก็ได้ วัดตามชนบทไม่มีความเจริญเข้าถึง ขอเพียงมีพื้นที่เป็นลานกว้างพอให้ปักขอบเขตเสมา สามารถเรียกว่าเป็นโบสถ์ได้ทั้งสิ้น ส่วนการฝังลูกนิมิตหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นส่วนประกอบของโบสถ์ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการปักเขตแดนคล้ายกับหลักหมุดในยุคนี้ เพราะในสมัยก่อนการระบุเขตที่ดินไม่ได้มี GPS แม่นยำ จึงมีการฝังลูกนิมิตไว้ตามทิศต่าง ๆ หากไม่มีใครคัดค้านจึงถือเป็นพื้นที่ของวัดโดยชอบธรรม คนละเขตแดนกับใบเสมาที่จะเฉพาะเจาะจงกว่าในการกำหนดเขตทำสังฆกรรมกิจของสงฆ์ โดยสรุปคือ “โบสถ์” ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตอลังการ ขอเพียงมีพื้นที่พอเหมาะก็สามารถใช้ประกอบพิธีกรรมได้ ต่างกับ อุโบสถ จะมีลักษณะห้องโถงเป็นเรื่องเป็นราว หรือเรียกกันว่าโถงอุโบสถ โดยความหมายคือการเรียกโบสถ์ที่มีส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมครบครันเช่นหน้าบันปูนปั้น , ช่อฟ้า , ใบระกา , นาคสะดุ้ง ฯลฯ มีทุกอย่างครบหมดแล้ว (อันที่จริงมีไม่ครบก็ไม่ผิดอะไร) จึงเรียกว่า “อุโบสถ” หรือพระอุโบสถตามแต่เรียกกัน คราวนี้เวลาไปเห็นประกาศตามวัดจะทำการบูรณะโบสถ์เก่าทรุดโทรม “ให้เป็นพระอุโบสถ” ไม่งงกันแล้วนะครับ ความหมายคล้ายกันแต่มีจุดต่างเพียงนิดเดียว อุโบสถความตามสมัยนิยมจึงใช้เรียกโบสถ์ที่มีงานศิลป์ทุกอย่างครบแบบจัดเต็ม ทราบกันแล้วว่าโบสถ์ , วิหาร , อุโบสถ ต่างกันอย่างไร ถือเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเวลาไปไหว้พระทำบุญ อันไหนโบสถ์ อันไหนวิหาร และแบบไหนคือพระอุโบสถ คงไม่มีความสับสนกันอีกแล้ว แต่สิ่งเหมือนกันคือทุกอย่างอยู่ในเขตของวัด ต้องใช้ความสงบ ความสำรวม และเคารพต่อสถานที่ ถือเป็นสิ่งควรกระทำเพื่อให้ทุกการทำบุญ นั้นได้ “บุญ” อย่างเต็มที่ครับ 🤗 ..ติดตามผู้เขียนได้ทางแฟนเพจ : เที่ยววัด ไหว้พระ ทำบุญ บทความน่าสนใจห้ามพูดอะไรตอน “ตักบาตร” อาจชวนพระทำบาปไม่รู้ตัวสุดยอด “คาถากันผี” สุดลี้ลับ สวดแล้วภูตผีกระเจิงวิธีไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “สมเด็จองค์ปฐม” ให้อยู่เย็นเป็นสุขมีเงินใช้ไม่ขาดมือมาแรงแซงโค้ง! “กัณหา-ชาลี” วัดสี่แยกเจริญพร ขอได้ไหว้รับ กลับมาค้าขายร่ำรวยภาพปก / ภาพประกอบทั้งหมด : โดยผู้เขียนอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !