ความคิดถึงหนึ่งคนที่จากลาล่วงลับดับชื่อ ห้าปีที่ผันผ่านเนิ่นนานรักยังไม่เสื่อมคลาย คิดถึงเสมอจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ บุญครั้งใหญ่ส่งให้พบความสุข ถ้าทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้าสุขขอให้สุขยิ่งๆ ตาย คือการดับสิ้นไปจากโลกนี้ คือความว่างเปล่าซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในทุกวันของสังคมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ไปจนถึงทั่วโลกเมื่อจากลา สิ่งที่คนในครอบครัวทำได้นั่นคือการส่งบุญ อุทิศส่วนกุศล สื่อสารผ่านทางความเชื่อของพระพุทธศาสนาคือการทำบุญแจกข้าวหา ระลึกถึงคนที่จากไปแม้ไม่ได้ร่วมทางเดินชีวิตแล้วก็ตาม การทำบุญแจกข้าวหาคนที่เสียชีวิต หลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันเองมีวิธีการทำหลายอย่าง อยู่ที่ความพร้อมของเจ้าของเรือน ครอบครัว ซึ่งในการแจกข้าวหา ถ้าหากพร้อมบางครอบครัวก็จัดวันถัดมาหลังจากเก็บกระดูก เตรียมงานทำบุญแจกข้าวต่อ บางครั้งการเตรียมงานต้องใช้เวลาเกือบปี หลังจากที่พร้อมแล้วจะต้องมีการจองวันเวลาที่เหมาะสมและว่างกับพระสงฆ์ก่อน เข้าคิวรอ สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องนำมาใส่กองบุญ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเสียชีวิตปกติหรือเสียชีวิตแบบที่ชาวบ้านเรียกตายโหงใส่ของทุกอย่างให้ครบ น้ำเต้าน้อย ตะกร้าข้าวเปลือก ตะกร้าข้าวสาร ซึ่งสิ่งนี้จะต้องทำขึ้นมาใหม่ จากผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้าน ก่อนวันบุญแจกข้าว ชายที่ค่อนวัยกลางคนไปแล้วทั้งหมดจะมาที่บ้านของคนที่จะทำบุญ จะถือมีดพร้าคนละเล่มมา เพื่อช่วยทำต้น ทำเครื่องใส่ในกองบุญ ซึ่งมีหลายอย่างที่ทำมาจากไม้ไผ่ สิ่งที่ต้องเตรียมคือไม้ไผ่ การจัดงานบุญจะมีประมาณสามวัน วันแรกเรียกว่าวันเตรียม วันตั้งและวันถวาย วันเตรียมจะจัดหาข้าวของเพื่อนำมาใช้ในงาน สิ่งไหนที่ยังไม่ครบ คนเฒ่าคนแก่ก็จะแนะนำ และช่วยหา สิ่งของจะต้องมีครบตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ที่มีมานาน ถ้าหากไม่ครบยังมีเวลาหา ในวันเตรียม วันตั้งกองบุญ วันนี้จะนำของทุกอย่างจัดใส่กองบุญ โดยมีการจัดด้านในก่อน จัดให้เหมือนกับห้องนอน หรือบ้านเพื่อให้ผู้ล่วงลับ ส่วนด้านนอกจะมีการใส่ผ้าห่ม เสื้อผ้า ผ้าขาวม้า กางเกง ใส่ครบแล้วถือว่าเสร็จ วันถวาย คือวันที่นำกองบุญลงถวายพระที่วัด เป็นการเสร็จงานและในตอนเช้าจะต้องลงวัดเพื่อทำการเวรพาข้าวถวายให้ครั้งสุดท้าย วิธีการทำถ้าคนที่เชี่ยวชาญ จะใช้เวลาทำไม่นาน เพราะความเชี่ยวชาญ เป็นครูโดยหน้าที่ประสบการณ์ทำมามากกว่าสิบปี ภาพด้านบน คือสิ่งที่ต้องทำขึ้นมาใหม่ ในกลุ่มของชายจะทำสิ่งเหล่านี้ ส่วนหญิงจะเตรียมเกี่ยวกับเรื่องครัว เตรียมอาหาร เตรียมใบตองในการห่อข้าวต้ม การทำอาหารเพื่อทานในงาน งานบุญถือเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ผู้ตายได้รับบุญใหญ่ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการสิ้นสุดจากกัน การตายคือการสิ้นสุด แต่หลังจากนั้นประมาณหนึ่งร้อยวัน หรือตามที่ครอบครัวญาติพี่น้องพร้อม จะทำบุญแจกข้าวหาผู้ตาย แต่ถ้าหากเสียชีวิตไม่ปกติ หรือที่เรียกกันว่า ตายโหง จะทำหลังจากผ่านไปห้าปี วิธีการประเพณีทำเหมือนตายปกติ แต่มีเพียงวิธีเรียกวิญญาณเท่านั้นที่ต่างกัน การตั้งกองบุญ ซึ่งจะมีการตั้งในวันที่สองและในวันนี้ ชาวบ้านที่ได้รับการแผ่บุญ(บอกบุญถึงบ้าน) ก็จะมาร่วมบุญ โดยการนำหมอน ผ้าห่ม เสื้อ ของใช้ตามกำลังศรัทธามาร่วมบุญด้วย ทางเจ้าภาพก็จะจัดข้างของใส่ก่อนแล้ว ซึ่งจะนำดอกไม้เทียนคู่และปัจจัย ซึ่งด้านในจะใส่เครื่องนอน และห้อมล้อมด้วย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของที่ผู้อยู่ต้องการที่จะส่งให้กับผู้ล่วงลับ แต่ก่อนนั้นทำไมถึงว่าให้ถึงเวลาสักหนึ่งร้อยวันอย่างต่ำ เพราะในช่วงเวลาเหล่านั้นจะเป็นช่วงที่เก็บสะสมของใช้ของทาน เพราะจะต้องมีทุกอย่าง ของในการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง ของทำมาหากิน เครื่องครัว เรียกได้ว่ามีทุกอย่างและไม่ได้มีเพียงหนึ่งชิ้นจะต้องมีมากกว่านั้น เรียกว่าถ้าหากเยอะกองบุญก็จะหนา การทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ หมอนเป็นสิ่งที่มีจำนวนมากที่สุด เพราะคนในหมี่บ้านจะนำหมอนมาร่วมบุญด้วย เมื่อตั้งกองบุญจะต้องกางร่มตรงด้านบน ด้านในปูเสื่อ มีหมอน มุ้ง ผ้าห่ม เรียกได้ว่าชุดเครื่องนอน ซึ่งคนเฒ่าคนแก่จะเป็นคนที่คอยจัดแจง กล้วยมะพร้าว ก่อนถึงวันงาน จะมีการออกไปหาใบตองเพื่อทำข้าวต้ม เพื่อใช้ในเวลาที่คนมาร่วมทำบุญทางเจ้าภาพจะต้องมีอาหาร และข้าวต้มให้เป็นน้ำใจ ให้ไปทานที่บ้าน ถ้าหากมีกล้วยเยอะจะนำมาแขวนรอบกองบุญ เพราะถ้าหากเราวางไว้กับพื้นอาจจะทำให้กล้วยนั้นสุกเร็วเกินไป เพื่อยืดเวลาและรักษากล้วยจึงมีการแขวนกล้วยรอบกองบุญ ถ้าบุญไหนมีกล้วยเยอะจะเห็นห้อยเป็นเครือจำนวนมากทั้งสุกและยังไม่สุก ห่อข้าวต้ม สิ่งที่ต้องช่วยกันเมื่อมีการทำกองบุญ คือการห่อข้าวต้ม ในงานนี้จะมีการเตรียมข้าวจำนวนมาก ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวเหนียวดำเพื่อนำมาทำแจก คำว่าแจกข้าวคือการทำทาน ในงานจะต้องมีการเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมไว้เผื่อทุกคน อาหารจะต้องเพียงพอสำหรับทุกคน ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีการจ้างแม่ครัว และจ้างคนล้างจานเพราะเจ้าภาพทำเองอาจจะไม่ไหว ข้าวต้มที่ทำ ประกอบไปด้วยข้าวต้มห่อ ข้าวต้มจ๊อก(ขนมเทียนมีลักษณะสามเหลี่ยม) ข้าวต้มข้าวผัด ข้าวต้มแดะ (ข้าวต้มที่มีการตำจนละเอียด) สิ่งที่หาง่ายที่สุดนั่นคือข้าว จึงเป็นที่นิยมกันว่าเวลาที่มีงานบุญแจกข้าวจะต้องมีข้าวต้ม หลากหลายอย่างใส่ถุงเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจให้คนที่มาช่วยงาน บริการน้ำดื่มสมุนไพร ในงานบุญแจกข้าวนั้นไม่มีข้อห้ามเรื่องการทำอาหารเหมือนงานศพเพราะฉะนั้นถ้าหากต้องการทานอะไรสามารถทำได้หมด น้ำดื่มตลอดทั้งงานมีการจัดทำน้ำผลไม้ ให้ทุกคนได้ดื่ม น้ำดื่มในงานนั้นไม่มีการระบุว่าจะต้องเป็นน้ำสีดำ เหมือนงานศพ งานนี้จะใช้ได้ทั้งหมด ในส่วนของอาหารก็เช่นกันทำได้ทุกอย่าง พิธีเรียกวิญญาณมารับส่วนบุญ ถ้าเป็นการเสียชีวิตธรรมดา เราจะมีเจดีย์เก็บกระดูก เวลาที่ทำบุญแจกข้าวหา ก็จะต้องไปที่เจดีย์บอกกล่าว ทำพิธีเรียกดวงวิญญาณ ตายโหง การเสียชีวิตแบบนี้ไม่มีกระดูก ไม่มีอะไรทั้งนั้น แม้แต่พระยังห้ามพบ ต้องการแจกข้าวหา จึงต้องนำพระสงฆ์ไปถึงหลุมฝังศพ การตามไปที่หลุมฝังศพเพื่อทำการบอกกล่าวกับวิญญาณผู้ตาย เพื่อมารับกองบุญกองกุศล การเดินทางไปป่าช้า จะต้องจำว่าตรงไหนคือที่เดิม ซึ่งครั้งนี้ผ่านมาแล้ว 8 ปี ต้นไม้ที่ทำเป็นสัญลักษณ์หมายไว้ให้จำคงจะโตและอยู่สูงมากแล้ว เมื่อเจอก็จะทำทีเป็นขุดหลุมและฝั่งชื่อของเจ้าของกองบุญไว้ ในไม้จะมีการสลักชื่อ นามสกุล และอายุของผู้ตายในตอนที่ตาย ปักลงไปตรงกลาง และทำพิธีสงฆ์ในการบอกเรื่องการทำบุญแจกข้าว เรียกวิญญาณมารับบุญใหญ่ สำหรับใครที่จำสถานที่ไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือ ให้เขยคนที่โยนไข่นั้นเป็นคนหาก่อน สังเกตจากภาพถ่าย จากต้นไม้ ถ้ายังไม่เจอจะมีการนั่งดูหรือทำพิธีถามดวงวิญญาณ ในป่าช้าแห่งนั้นว่าคนตายชื่อนี้ถูกฝังอยู่ตรงไหน และจากนั้นจะทำพิธีสักไม้ลงและขุดหลุม ถ้าหากว่ายังหาไม่ได้ ก็จะเอาที่ที่เหมาะสม และเรียกดวงวิญญาณของผู้ตายมาอยู่ที่ตรงนั้นซึ่งจะมีการทำพิธีเรียกดวงวิญญาณ เพราะอย่างไรแล้วจะต้องทำพิธี อาจจะไม่ตรงบ้างก็น่าจะใกล้ เหตุที่ทำแบบนี้ เพราะหากมีศพอื่นนำมาฝังจะได้ไม่ขุดซ้ำที่เดียวกัน หมายไว้ให้รู้ว่ามีคนอยู่ตรงนี้ ปักหลักพร้อมชื่อเจ้าของ วางอาณาเขต เมื่อค้นพบสถานที่ก็เริ่มทำการปักหลักไม้ และนำข้าวปลาอาหารหลายอย่างวางไว้ให้กับผู้ตาย ซึ่งแกงทุกถุงจะต้องแกะยางมัดออก และวางไว้ให้โดยหันปากเข้าไปที่ไม้ น้ำก็จะเทใส่แก้วให้ น้ำมนต์ มีฝ้ายสีขาวผูกไว้ที่หัวขวด น้ำมนต์นี้จะทำพิธีล้าง ถ้าเป็นเสียชีวิตปกติคือล้างกระดูก แต่ถ้าฝังจะเป็นสมมุติเทลงไปในพื้นดิน น้ำนี้ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเสร็จพิธีกรรม สิ่งสุดท้ายคือทุกคนที่ร่วมในพิธีจะต้องกรวดน้ำ ความสำคัญของการกรวดน้ำ ความเชื่อเรื่องการกรวดน้ำนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อาจจะเป็นอย่างเดียวที่สื่อถึงดวงวิญญาณให้ได้รับสิ่งที่เราอยากได้ การทำบุญนั้นจะสำเร็จได้ครบสุดท้ายเราต้องกรวดน้ำ อย่างมีคนเคยบอกว่า ถึงแม้เราจะใส่บาตรพระถวายสังฆทานใหญ่ขนาดไหน ถ้าเราลืมกรวดน้ำของทานเหล่านั้นก็ส่งไม่ซึ่งหมายถึงการทำบุญทั้งหมดนั้นไม่เกิดผลอะไร สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้บอกให้พระเจ้าพิมพิสารนำน้ำมากรวดเพื่อส่งผลบุญให้กับบุคคลอันเป็นที่รักที่ได้ล่วงรับไปแล้วพร้อมกับบอกว่า การกรวดน้ำนั้นเป็นการส่งบุญไปให้ผ่านสื่อกลางคือแผ่นดิน ซึ่งจะมีด้วยกันทั้งหมดสี่อย่าง เมื่อเรานั้นกรวดน้ำ นั่นคือพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระวายุ และพระอัคนีสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้จะเป็นสื่อกลาง การที่เรานั้นเทน้ำสะอาดบริสุทธิ์ลงในที่ที่มีภาชนะรองรับน้ำ หรืออาจจะเป็นการเทใส่ที่ที่มีสิ่งมรองรับ ใบไม้ ต้นไม้ หรือแก้วน้ำ ในขณะที่พระสวดภาษาบาลีเราก็ระลึกนึกถึงคนที่ต้องการส่งบุญให้รวมถึงบรรพบุรุษทั้งหมด ให้มารับส่วนบุญ และหลังจากนั้นเราก็จะแผ่บุญให้กับตนเองให้ชีวิตราบรื่น ซึ่งตามคำแปลภาษาบาลี ก็เช่นกันตอนแรกแผ่ให้กับผู้ที่ล่วงรับ ช่วงหลังจะแผ่ให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อไหร่ที่มีการกรวดน้ำ พิธีกรรมนั้นก็ถือเป็นการสิ้นสุด เรียกวิญญาณผู้ตาย ให้กลับไปบ้านเพื่อรับบุญหรือมหาบุญ การเสียชีวิตเช่นนี้นั้นจะไม่มีการทำบุญและทำพิธีกรรมหลายอย่างเหมือนการเสียชีวิตปกติ แต่เมื่อครบกำหนดห้าปีขึ้นไปจะต้องเรียกวิญญาณของผู้ตายจากหลุมศพเพื่อมาทำบุญ บางที่จะมีการขุดหลุมและนำกระดูกไปทำบุญ แต่สำหรับความเชื่อของที่นี่ ไม่ต้องขุดขึ้นมาเก็บกระดูก ใช้พิธีกรรมการเรียกวิญญาณกลับบ้านเพื่อรับกองบุญ พิธีกรรมหลังจากไปที่หลุมฝังศพ เมื่อเสร็จพิธีทุกคนจะกลับมาที่บ้าน และต้องพรมน้ำมนต์ใส่บนหัว เพื่อให้อยู่ดีมีสุข เพราะการเดินทางไปที่นั่นอาจจะทำให้ขวัญหาย ขวัญกระเจิงอยู่ไม่สุข น้ำมนต์คือสิ่งที่ล้างทุกอย่างที่มองไม่เห็น โดยการใส่สมุนไพรลงในน้ำล้างสิ่งไม่ดี หลังจากที่ทำพิธีสงฆ์เสร็จก็ทำการล้างของทาน โดยการให้ญาติแต่ละคนเดินใช้น้ำมนต์ล้างรอบของทาน จนครบ การล้างของทานจะถือเป็นการให้กับผู้ตาย ซึ่งถือเป็นการเสร็จพิธี การนำลงถวายพระที่วัด เมื่อเสร็จการนำลงวัดเพื่อถวายจะมีอยู่ด้วยกันสองแบบ ถ้ากองบุญธรรมดา จะต้องนำลงตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ขนลงประมาณตีห้า แต่ถ้าหากเราแจ้งว่าคือกองบัง เราจะต้องนำลงประมาณ หกโมงเย็น คือเวลาตะวันตกดินหรือค่ำ ในขณะที่ลงนั้นทุกคนระหว่างทางจะต้องหักกิ่งไม้ ใบไม้ใหญ่ๆเพื่อบดบังตัวเองไม่ให้พระสงฆ์เห็น เมื่อลงไปถึงก็จะตั้งกองบุญไว้ในที่โล่งและนำใบไม้กิ่งไม้มาวางทับปิด จากนั้นทุกคนจะไปนั่งหลบซ่อนเพื่อไม่ให้พระสงฆ์มองเห็น และที่สำคัญจะต้องจัดคนที่ไปตีกองตุ้มให้พระสงฆ์รู้ ซึ่งเมื่อตีกองแล้วพระสงฆ์ก็จะเดินมาส่องดูรอบๆว่าเกิดอะไรขึ้นมีใครมาทำอะไรที่วัด เดินส่องไปส่องมา ก็จะมาเจอกองบุญใหญ่ ซึ่งมีการบังไว้ จากนั้นพระก็จะทำการถามว่านี่ของใคร และเดินวนหา ได้อ่านชื่อคนที่อุทิศบุญให้ จากนั้นก็จะพิจารณาทั้งสี่มุมของกองบุญนั้น ซึ่งจะใช้พระสงฆ์ทั้งหมด 4 รูป การพิจารณาโดยการจุดเทียนรอบกองบัง พิจารณากองอัฐบริขาร จากนั้นก็จะเป็นการเสร็จพิธี การถวายกองบังเจ้าของก็จะเดินกลับบ้าน เช้าวันต่อมา การถวายสังฆทาน และเวรพาข้าวให้กับผู้ตาย เช้าวันใหม่ทุกคนในครอบครัวรวมถึงญาติพี่น้องก็จะทำอาหารลงวัดเพื่อทำสังฆทาน ให้กับผู้ตาย เมื่อทำการเวรพาข้าวเรียบร้อย แล้วก็จะเดินนำพาข้าวไปวางให้กับผู้ตาย ซึ่งจะเป็นบ้านหลังเล็กๆเมื่อวางให้เรียบร้อยสุดท้ายคือการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายมารับ ในชีวิตต้องการทานอะไรทำอะไรให้รีบทำ หลังจากที่จากโลกนี้ไปจะไม่มีใครล่วงรู้ได้ คนอยู่แม้จะรักขนาดไหนสุดท้ายก็ทำได้เพียงการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ แม้การทำบุญจะเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักการละจากความโลภ ทำบุญทำทานตัดความอยากได้อยากมี รู้จักการแบ่งปัน แต่สำหรับคนที่จากไปนั้นจะได้รับหรือไม่ได้รับเป็นสิ่งที่ไม่อาจล่วงรู้ได้ ขอเพียงสุขที่ได้ทำ สุขที่ได้ให้ มีความสุขทุกคนแค่นี้ก็เพียงพอแล้วในชีวิตคนเรา ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นของผู้เขียน (อุ้งเท้าแมว)เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !