รีเซต

พระสยามเทวาธิราช มีความเป็นมาอย่างไร เปิดประวัติสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยได้ที่นี่

  • 06 สิงหาคม 2564
  • 699

     ชื่อของ พระสยามเทวาธิราช เป็นที่รู้จักมานานหลายร้อยปีในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประเทศไทย เราจะพาไปเปิดประวัติความเป็นมากันว่า ทั้งพระสยามเทวาธิราชองค์ที่เห็นกันทั่วไป และพระสยามเทวาธิราชองค์ที่เหมือนกับพระพักตร์ของร.4 หรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

 

เปิดประวัติ พระสยามเทวาธิราช มีความเป็นมาอย่างไร

     ตามความเชื่อของชาวไทยแต่โบราณ เชื่อกันว่า พระสยามเทวาธิราช คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองสยาม หรือประเทศไทยเราให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอริราชศัตรู และภัยอันตรายต่างๆ จุดเริ่มต้นความเชื่อดังกล่าวมาจากอะไร และมีประวัติการจัดสร้างอย่างไรบ้าง เราได้รวบรวมข้อมูลมาให้คุณที่นี่แล้ว

 

จุดเริ่มต้นการจัดสร้างพระสยามเทวาธิราช

     มีหลักฐานจากพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการจัดสร้างพระสยามเทวาธิราชไว้ว่า มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ทรงพบว่าประเทศไทยต้องเผชิญอันตรายหวุดหวิดจะสูญเสียอิสรภาพอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มีเหตุให้รอดพ้นเรื่อยมา น่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาองค์ใดคอยคุ้มครองรักษาประเทศไทยอยู่เป็นแน่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวร เป็นผู้ปั้นหล่อเทวรูปสมมุติขึ้น พร้อมกับถวายพระนามว่า "พระสยามเทวาธิราช"

 

ลักษณะรูปสมมติของพระสยามเทวาธิราช

     เป็นรูปทรงต้นยืนถือพระขรรค์ในพระหัตถ์ขวา ขนาด 8 นิ้ว งดงามได้สัดส่วนแล้วหล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ ประทับยืน ทรงเครื่องอย่างเทพารักษ์ ทรงมงกุฎ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นในท่าจีบเสมอพระอุระ ประทับในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์มีลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์

 

เครื่องสักการะพระสยามเทวาธิราช

     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะเป็นประจำวัน ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นถวายเฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นใน เป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง
  • หมูนึ่งหนึ่งชิ้น พร้อมด้วยน้ำพริกเผา
  • ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม
  • ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว
  • กล้วยน้ำว้า
  • มะพร้าวอ่อน 1 ลูก
  • ผลไม้ตามฤดูกาล 2 อย่าง
  • น้ำสะอาดอีก 1 แก้ว

     นอกจากนี้ยังโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีสังเวยเทวดา ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปีอีกด้วย

 

พระสยามเทวาธิราช ในยุคของรัชกาลที่ 5

     ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ เนื่องจากพระอภิเนาว์นิเวศน์พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้หุ้มปูนนั้น ได้ชำรุดเสื่อมโทรมลงมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง และอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งใหม่ คือพระวิมานทองสามมุขเหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

     และนอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมรูปขึ้นอีกองค์หนึ่ง โดยมีรูปแบบเหมือนกับพระสยามเทวาธิราช แต่มีพระพักตร์เหมือนกับรัชกาลที่ 4 และประดิษฐานอยู่ที่ห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เนื่องจากมีพระราชดำริว่า การที่ประเทศชาติรอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ มาได้นั้น นอกจากมีเทพยดาช่วยปกป้องคุ้มครองแล้วนั้น ยังมีบูรพกษัตริย์ที่มีฐานะเป็นเทวดาทรงช่วยเหลือด้วยเช่นกัน 

 

ภาพจากเฟสบุค โบราณนานมา 

 

พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่พระสยามเทวาธิราช

     พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่พระสยามเทวาธิราช ตามประเพณีกำหนดไว้ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติแบบโบราณ ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือรัชกาลที่ 9 นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชเฉพาะพระพักตร์ เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้นเสลี่ยงโดยประทับบนพานทอง 2 ชั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง ในวันพุธที่ 7 เมษายน 2525 เมื่อครั้งฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2525

 

ภาพจากเฟสบุค โบราณนานมา 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ 

8 สถานที่ที่มีเทพประจำเมือง เทพคู่บ้านคู่เมือง สุดขลัง ศักดิ์สิทธิ์ รอบโลก คลิกอ่าน

วิธีไหว้ศาลหลักเมือง ลำดับการไหว้ ไหว้อย่างไร เสริมสิริมงคล เสริมดวงชะตา โดย TrueID Horoscope

 

หาฤกษ์มงคล วิธีการเสริมดวง สีมงคล คลิกเลย!
https://bit.ly/3bVb3Xy

หากยังอ่านดวงไม่จุใจ ติดตามอ่านดวงแบบอื่นๆ ได้ที่นี่

ดวงรายวัน

 

ดวงรายสัปดาห์

 

ดวงรายปักษ์

ดวงรายเดือน

 

เลขมงคล

 

ฤกษ์มงคล