วัดป่าโนนนิเวศน์ อำเภอเมืองอุดรธานี จัดงานบุญกฐินสามัคคี 18 - 19 พฤศจิกายน 2566 เป็นการร่วมแรงร่วมใจจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งธุรกิจห้างร้านใหญ่น้อย หน่วยงานราชการ ชุมชน และประชาชนทั่วไป ทั้งใกล้และไกล เพื่อสร้างมหาทานมหาบารมี และรักษาประเพณีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาและประเพณีพื้นถิ่นอีสานด้วย...ครั้งนี้จึงขอนำบรรยากาศในงานบุญกฐินอีสาน เทศกาลแห่งความ "ม่วนซื่น" (ภาษาอีสานแปลว่า มีความสุข สนุกสนาน เบิกบานใจ) กับมหาบุญมหาทานและการสืบสานประเพณีที่ล้วนแต่น่า "ออนซอน" (ภาษาอีสานแปลว่า น่าชื่นชม น่าประทับใจ) เป็นข่าวสารมาฝากกันค่ะ18 พฤศจิกายน วันโฮมบุญ - สมโภชน์กฐินที่เรียกว่า "วันโฮมบุญ" เพราะในวันนี้ ทางวัดได้ตั้งจุดรับผ้ากฐินและบริวารที่ผู้คนนำมา "โฮม" (ภาษาอีสานแปลว่า รวม) กัน ซึ่งก็เปิดรับตลอดทั้งวันจนถึงวันงานบุญกฐิน...ของที่นำมาร่วมบุญกฐินก็มีหลากหลาย ทั้งผ้าไตรจีวร ผ้าขาวบังสุกุล สังฆภัณฑ์ต่าง ๆ ของใช้ทั่วไป ของใช้ในครัว ยาสามัญประจำบ้าน อาหาร น้ำดื่ม และยังมีของประดับตกแต่งงาน ที่ขาดไม่ได้คือต้นกล้วย - ต้นอ้อยค่ะ...ตรงจุดรับของ ทางวัดได้ตั้งฆ้องใหญ่เอาไว้ ให้คนที่นำของมาร่วมบุญกฐินแล้ว ตีฆ้องบอกกล่าวญาติมิตรผู้ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวร เทวดา และสรรพสิ่งทั้งหลาย ให้ร่วมโมทนาบุญตามคติความเชื่อ...ตลอดทั้งวัน ในวัดก็จะมีเสียงฆ้อง ซึ่งนับเป็นเสียงแห่งมหาบุญมหาทาน อยู่เรื่อย ๆ ค่ะในวันนี้ ทั้งพระและญาติโยมที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต่างก็มีงานกันเต็มมือ เพื่อจัดเตรียมให้สถานที่และองค์ประกอบทุกอย่าง พร้อมสำหรับพิธีสมโภชน์กฐินในตอนเย็นและพิธีใหญ่ในวันรุ่งขึ้น...นอกจากนี้แล้ว ยังมีรายการพิเศษคือ โรงทานของอุปโภคบริโภค โดยร้านค้าชื่อดังของเมืองอุดรธานี...จะเรียกว่า "เศรษฐีแจกมหาทาน" ก็ไม่ผิดหรอกค่ะ เพราะแม้จะมีคนรอรับของกันเป็นคิวยาว ของก็ดูเหมือนจะไม่หมดง่าย ๆ...เขาแจกให้ทุกคน ไม่จำกัดอายุ เพศ วัย ของที่แจกให้กับคน ๆ หนึ่ง ก็รวมกันได้เป็นถุงใหญ่เลย...งานนี้ ได้เห็นยิ้มเป็นสุขทั้งผู้ให้และผู้รับค่ะ19 พฤศจิกายน วันทอดกฐินใน "วันบุญกฐิน" ผู้คนมากมายต่างมาร่วมงานบุญกฐินกันตั้งแต่เช้า มีโรงทานอาหาร - เครื่องดื่มหลากหลาย แต่ละร้านก็ยังนำมาถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์เพื่อให้เป็นบุญกุศลยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยค่ะ...ทราบว่า ต้นเสียงผู้ดำเนินรายการในวันนี้เป็นคุณครูที่เคยบวชเรียนมาก่อน ดังนั้น งานกฐินจึงมีผู้นำดำเนินการ ที่เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญพิธีการ ผู้มีทักษะจัดระเบียบสังคมอันยอดเยี่ยม และผู้ที่สามารถให้ความรู้ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับประเพณีเป็นอย่างดีค่ะเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย คือ "แห่กฐิน"...ขบวนแห่กฐิน นำโดยกลุ่มคนกวาดพื้น ตามคติความเชื่อที่ว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งอัปมงคลและมารที่จะมารบกวนพิธีกรรมทางพระศ่าสนา และยังเป็นการปัดกวาดทำความสะอาดเส้นทางให้ความสะดวกแก่ผู้ร่วมในขบวนแห่ นับเป็นบุญที่ให้อานิสงส์มากค่ะ...ต่อจากกลุ่มคนกวาดพื้น ก็ตามด้วยเหล่านางรำ เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองด้วยความยินดี...เพลงแห่เปิดจากเครื่องเสียง เป็นเพลงบรรเลงแบบอีสานที่มักใช้ในงานบุญประเพณีต่าง ๆ มีจังหวะสนุกสนาน เช่น ทำนองเพลง "ลาวสมเด็จ" เป็นต้น...แต่ไม่ต้องเป็นนางรำ ก็ฟ้อนรำได้ค่ะ คนร่วมขบวนแห่ส่วนใหญ่ต่างฟ้อนรำตามเสียงเพลงกันอย่างสนุกสนาน บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงสรวลเสเฮฮาค่ะในขบวนแห่ ต่อจากกลุ่มนางรำ ก็ตามด้วยผ้ากฐิน ซึ่งได้แก่ผ้าไตรจีวรและผ้าขาวบังสุกุล พร้อม ๆ กับบาตร หลังจากนั้นจึงเป็นต้นกฐินและบริวารค่ะ...เมื่อแห่กฐินเวียนขวารอบศาลาการเปรียญครบ 3 รอบแล้ว ขบวนแห่ก็กลับขึ้นบนศาลา เพื่อทำ "พิธีทอดถวายผ้ากฐินและบริวาร" ("ทอด" ก็คือวางถวายแด่พระสงฆ์นั่นเองค่ะ)...ผู้เขียนประทับใจมาก ที่ตอนเริ่มพิธี พระอาจารย์เจ้าอาวาสให้ประธานเจ้าภาพฝ่ายฆราวาสจุดธูปเทียนบูชาพระประธาน และให้รองประธานจุดธูปเทียนบูชารูปเหมือน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ด้วยค่ะ...เหตุที่มาก็คือ วัดนี้เคยเป็นที่จำพรรษาของหลวงปู่มั่นฯ มีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่เกี่ยวข้องกับท่านให้สาธุชนได้ระลึกถึงท่าน รวมทั้งรูปเหมือนที่อยู่ในศาลาการเปรียญ...ผู้คนที่ไปทำบุญที่วัดก็มีไม่น้อย (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ที่เป็นผู้เคารพศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่นฯ ค่ะบุญกฐินครั้งนี้ สมกับชื่อว่า "กฐินสามัคคี" จริง ๆ ค่ะ...มีนายห้าง - เจ้าของธุรกิจต่าง ๆ หน่วยงานราชการต่าง ๆ และชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ทั้งใกล้และไกล มาร่วมทอดกฐินกันเนืองแน่น...ถึงแม้ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่ก็มีรอยยิ้มและเสียง "สาธุ ๆๆ" โมทนายินดีในบุญกุศลทั้งหลาย ในฐานะเจ้าภาพกฐินร่วมกันทั้งสิ้นค่ะหลังจากพระสงฆ์ท่านทำ "พิธีกรานกฐิน" ในศาลาการเปรียญแล้ว ท่านก็นำผ้าขาวไปตัดย้อมให้ทันในวันเดียวนี้เลย...เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจค่ะ ว่านอกจากที่วัดจัดงานบุญพร้อมรายละเอียดพิธีการ ที่ช่วยธำรงรักษาขนบประเพณีให้แก่ญาติโยมแล้ว พระสงฆ์เองท่านก็ยังรักษาสืบสานพระธรรมวินัยในพระศาสนาด้วยค่ะเมื่อจบพิธีแล้ว พระสงฆ์ท่านก็อนุโมทนาให้พร และพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้แก่ญาติโยมผู้ร่วมงานบุญกฐิน...ปิดท้ายด้วยสิ่งที่ผู้คนรอคอยก็คือ คำอนุญาตของพระอาจารย์เจ้าอาวาส ให้คนในงานสามารถนำเอาของประดับงานกลับบ้านเป็นสิริมงคลได้...ปรากฏว่าทุกอย่าง (ที่อนุญาตให้นำไปได้ เช่น ยันต์ธงกฐิน ตุง ผลไม้ ต้นกล้วยต้นอ้อย เป็นต้น) หมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่วินาทีค่ะ...ก่อนแยกย้ายกลับบ้าน จุดหนึ่งที่ผู้คนนิยมไปมากที่สุดก็คือฆ้อง คือไปตีเพื่อประกาศมหาบุญมหากุศลที่ได้ทำแล้วในวันนี้ให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวร เทวดา และสรรพสิ่งทั้งหลาย ได้อนุโมทนาบุญร่วมกันค่ะการไปร่วมงานบุญกฐินครั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า...ก่อนที่จะถึงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ที่จะมีการเฉลิมฉลองและทำบุญกุศลเพื่อสิริมงคลในชีวิต เป็นกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวและญาติมิตร...ก็มีงานบุญกฐินสามัคคีแบบนี้นี่แหละค่ะ ที่เป็นอีกเทศกาลดี ๆ ที่เป็นทั้งการบุญกุศลและให้ความสุขสนุกสนาน เชื่อมสัมพันธ์อันดีทั้งในครอบครัวและสังคม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่ดีระหว่างวัดกับชุมชนค่ะ.มรรษยวรินทร์พิกัด วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานีภาพประกอบทุกภาพ โดย มรรษยวรินทร์เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !