ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ที่เรียกกันว่า "เดือนเก้าดับ" ของทุกปี ชาวอีสานจะมีงานบุญประเพณีเรียกว่า "บุญข้าวประดับดิน" ซึ่งในปี 2566 นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน ค่ะ...แต่ละปี ครอบครัวผู้เขียนก็ไม่พลาดที่จะทำบุญในโอกาสนี้ ตามประเพณีแห่งความเมตตาเอื้อเฟื้อและเพื่อสั่งสมบุญทาน ซึ่งปกติก็ใส่บาตรเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว เพียงแค่เพิ่มรายละเอียดการเตรียมข้าวของอีกสักนิด และตื่นเช้ากว่าปกติอีกสักหน่อยค่ะทำไมจึงทำบุญข้าวประดับดิน?ตอบว่า...ตามที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาตามวัดต่าง ๆ ท่านว่า...การทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการวางอาหารไว้เป็นทานแด่วิญญาณญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ และวิญญาณอื่น ๆ ในทุคติภูมิ ได้แก่ สัตว์นรก เปรต รวมทั้งสัมภเวสีวิญญาณเร่ร่อน ที่มีความเป็นอยู่ยากลำบากและหิวโหย เนื่องจากวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ถือเป็นวันที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณเหล่านั้นมากินอาหาร - รับส่วนบุญกุศล บนโลกมนุษย์ค่ะทำบุญข้าวประดับดินแล้วได้อะไร?อันดับแรก ถามและตอบว่า...ถ้าใครมีคนที่รักที่ตายจากไป แม้เราไม่รู้ว่าเขาไปอยู่ไหน เราก็อยากให้เขามีความสุข ไม่อยากให้เขาหิว ไม่อยากให้เขาลำบาก และพร้อมช่วยเหลือเขาทุกทาง ใช่ไหมคะ?...การทำบุญข้าวประดับดินจึงเป็นอีกหนทางที่ดีที่เราทำได้ เผื่อจะสามารถช่วยเหลือเขา ให้เขาที่เป็นทุกข์ก็กลับเป็นสุข หรือที่เป็นสุขแล้วให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไปค่ะอันดับต่อมา ตอบว่า...เป็นอีกหนทางในการทำทานแก่วิญญาณผู้มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากและหิวโหยในทุคติภูมิ ซึ่งก็นับว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุประการหนึ่งค่ะ...ยิ่งได้ยินได้ฟังคำพระท่านเทศน์เรื่องอานิสงส์และความดีงามของทาน เช่น "การให้ทานเป็นหนึ่งในมงคลชีวิต" "ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก" "ผู้ให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง" เป็นต้น ก็ยิ่งชื่นใจค่ะการทำบุญข้าวประดับดินถือเป็นการเลี้ยงผีที่ให้ผลร้ายไหม?ตอบว่า...งานบุญประเพณีนี้มีมาเนิ่นนาน เป็นบุญในเขตพระศาสนาที่ได้รับการส่งเสริมและเอื้อเฟื้อจากเหล่าพระสงฆ์ โดยมีที่มาจากเรื่องราวในสมัยพุทธกาล ที่พระเจ้าพิมพิสารอาศัยบารมีของพระพุทธเจ้าทำบุญอุทิศแด่ญาติพี่น้องที่เป็นเปรตให้พ้นจากความลำบากหิวโหย...เราให้ทานด้วยใจเมตตา ไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ได้ขออะไรเป็นการแลกเปลี่ยน และไม่ได้เป็นการรับให้วิญญาณใดมามีอิทธิพลอยู่เหนือเรา...ถ้าเราไม่ทำอะไรนอกเหนือจากนี้ งานนี้เป็นบุญสมชื่อ และปลอดภัยค่ะบุญข้าวประดับดินทำอย่างไร?ตอบตามประสบการณ์ว่า...1. ในคืนก่อนวันทำบุญเตรียมของใส่บาตร (หรือของที่จะนำไปถวายเป็นภัตตาหารเช้าที่วัด) ไว้ 1 ส่วน และเตรียมของทำบุญข้าวประดับดินไว้อีก 1 ส่วนของที่จะใช้ทำบุญประดับดิน ประกอบด้วย อาหารคาวหวาน ข้าวกระยาสารท (ของมงคลตามฤดูกาล) ผลไม้ อย่างละนิดอย่างละหน่อย รวมทั้งบุหรี่ และหมากพลู ทั้งหมดใส่ในห่อ/กระทง/กรวยใบตอง จำนวนห่อตามที่ต้องการอย่าลืมเตรียมน้ำดื่ม หลอด เทียน ธูป และไม้ขีดไฟ/ไฟแช็ก ไว้ด้วยถ้าใครตื่นเช้ามาก ๆ จะไปซื้อหาของเหล่านี้ที่ตลาดก็ได้2. เช้าวันทำบุญทำช่วงเวลาเช้ามืด 04:00 - 06:00 น.ไปรอใส่บาตรพระ และขอให้พระท่านพิจารณาของที่เราจะเอาไปวาง เพื่อให้เป็นบุญกุศลเต็มที่แด่วิญญาณที่จะมารับอาหารไป (คนส่วนใหญ่ไปวางห่อข้าวก่อน แล้วจึงไปใส่บาตรหรือถวายภัตตาหาร)เสร็จแล้วนำห่อข้าวพร้อมน้ำ ไปวางใต้ต้นไม้ในวัด (หรือวางตามกำแพงวัด) หัวไร่ปลายนา ทางแยก แล้วแต่สะดวก จุดธูป - เทียนบอกกล่าวญาติพี่น้องและวิญญาณทั้งหลายให้มารับอาหารไป ท้ายที่สุดคือ กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลในวันนี้ทั้งหมด (มี ใส่บาตร/ถวายภัตตาหารพระ พิจารณาธรรมเรื่องความตาย ทานอาหารแด่วิญญาณ เป็นต้น) แด่ญาติมิตรผู้ล่วงลับ ดวงวิญญาณทั้งหลาย และเจ้ากรรมนายเวรบทที่พระท่านใช้พิจารณารับของทานเพื่อเป็นบุญกุศลแด่เหล่าดวงวิญญาณนั้น เป็นส่วนท้ายของบทบังสุกุล ที่ว่า..."สัพเพ สัตตา มะรันติ จะ มะริงสุ จะ มะริสสะเร, ตะเถวาหัง มะริสสามิ, นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย - สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่ตายไปแล้วก็ดี ที่กำลังตายอยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี ที่จะตายต่อไปอีกก็ดี, แม้ตัวของเราก็จะต้องตายอย่างนั้นเหมือนกัน, ความสงสัยในเรื่องความตายนี้ ย่อมไม่มีแก่เราเลย"เมื่อเอามาพิจารณาตามแล้ว ก็ทำให้คิดถึงเรื่องราวเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ที่ตอนมีชีวิตอยู่ก่อเวรกรรมหนัก ตายไปจึงเป็นเปรตและต้องรอบุญจากพระเจ้าพิมพิสารจึงจะพ้นความลำบากหิวโหย เช่นเดียวกับสัตว์ทั้งหลายในทุคติภูมิ ที่อยู่กับตัวก็มีแต่บาป ต้องรอบุญจากญาติพี่น้องและผู้มีเมตตา จนทำให้เกิดประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้ขึ้นมา...ผู้เขียนจึงยิ่งตระหนักว่า เราต้องรีบลดละสิ่งเป็นบาปเป็นเวรเป็นภัยทั้งหลาย แล้วก็ควรเร่งขวนขวายทำความดี สร้างบุญกุศลเอาไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อที่จะมีบุญของตนเองเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ไม่ต้องลำบากหรือหิวโหย เมื่อตายจากชีวิตนี้ไปค่ะ.มรรษยวรินทร์(ภาพประกอบทั้งหมด โดย มรรษยวรินทร์)เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !