รีเซต

ทำความรู้จักดวงดาวทางโหราศาสตร์ ธาตุประจำดวงดาว และอัญมณีสีประจำธาตุ อ.ปราณเวท โหราพยากรณ์

  • 17 กุมภาพันธ์ 2563
  • 12,243 5

     กลุ่มดวงดาวตามโหราศาสตร์นั้นประกอบไปด้วยทั้งหมด 9 ดวงดาว ซึ่งดวงดาวเหล่านี้ในทางโหราศาสตร์นั้นเป็นตัวบ่งชี้ดวงชะตา ลักษณะเฉพาะตัว และนิสัยใจคอของคนนั้นๆ ซึ่งในแต่ละปีนั้นดวงดาวจะมีการเคลื่อนย้ายไปตามแต่ละราศี ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนเเปลงของดวงชะตาในด้านต่างๆ

     ซึ่งหากใครได้ติดตามเรื่องการย้ายของดวงดาวคงจะเคยเห็นชื่อดาวกันบ้าง แต่อาจจะทราบ หรือไม่ทราบรายละเอียดของดวงดาวนั้นๆ วันนี้ อ.ปราณเวท โหราพยากรณ์ จะมาเผยให้ได้รู้จักกันค่ะ

ทำความรู้จักดวงดาวทางโหราศาสตร์  
ธาตุประจำดวงดาว และอัญมณีสีประจำธาตุ 


๑  ดาวอาทิตย์

     พระอาทิตย์ - ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวรผู้เป็นเจ้าร่ายพระเวทย์ให้ราชสีห์ ๖ ตัว ป่นเป็นธุลีแล้วห่อด้วยผ้าสี แดงและพรมด้วยนํ้าอำมฤตแล้วเกิดเป็นเทพ มีสีกายสีแดง วิมานสีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ

     พระอาทิตย์จึงมีกำลัง ๖  เป็นบาปเคราะห์ บางตำราก็ว่า เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลาง 

ลักษณะทั่วไป

     ดาวอาทิตย์เป็นดาวธาตุไฟ (ไฟลุกโชน เพราะเป็นดาวเกษตร(เจ้าเรือน) ราศีสิงห์ ราศีธาตุไฟ ซึ่งในบรรดาดาวทั้งหมดมีดาวอาทิตย์ กับ ราหู เท่านั้นที่เป็นเจ้าเรือน ราศีธาตุที่ตรงกับ ธาตุตนเอง) ที่มีไฟลุกโชติช่วง มีแสง พลังงานในตัวเอง  เป็นดาวที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล เป็นดาวที่ให้แสงสว่างแก่ดาวเคราะห์ ดวงอื่น

     อัตราการโคจร ราศีละประมาณ ๑ เดือน (เดินปกติ ไม่เดินแบบวิกลคติ (พักร มนท์ เสริด))

ความหมายทั่วไป

     จุดเจ้าชะตาชาย ร่างกาย  สามี บิดา อำนาจ ยศศักดิ์ ชื่อเสียง สูงศักดิ์ ผู้นำ รักศักดิ์ศรี มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ความเย่อหยิ่ง ทิฐิ หรูหราโอ่อ่า รักความยุติธรรม จริงจัง ใจร้อนวู่วาม  ไฟ ความร้อน ไฟฟ้า แสงสว่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า 

ทายยศศักดิ์ อัครฐาน ทาย อาทิตย์

  • บุคคล พระราชา เชื้อพระวงศ์ นายกรัฐมนตรี เจ้านาย หัวหน้า ผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจ ข้าราชการ บิดา สามี 
  • สถานที่ พระราชวัง สถานที่ราชการ รัฐสภา สถานที่มีไฟ แสงสว่าง ความร้อนสูง โรงไฟฟ้า
  • รูปร่าง แน่งน้อย ผิวสองสี ขาวแดง(บ้างก็ว่า ดำแดง) หน้ามน หน้าผากแคบ ตาเป็นประกาย มีสีแดง ผิวไม่หยาบไม่ละเอียด
  • กายวิภาค นัยน์ตา (ตาขวา) หัวใจ หลอดเลือด เลือด เส้นประสาท
  • ทิศ  อิสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
  • สี  สีแดง สีเพลิง สีแดงสด
  • อัญมณี เพชร ทับทิม
  • สัตว์ ครุฑ นก ราชสีห์ สิงโต
  • พืช  พืชให้ดอกสีแดง พืชในทะเลทราย พืชปลูกในที่แห้งแล้ง
  • พฤกษาชาตา รากแก้ว

 

๒  ดาวจันทร์

     พระจันทร์ - ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวรผู้เป็นเจ้า ร่ายพระเวทย์ให้นางฟ้า ๑๕ องค์ เป็นธุลี แล้วห่อด้วยผ้าสี นวล ประพรมด้วยน้ำอำมฤต บังเกิดเทพ ผิวกายสีนวล วิมานแก้วสีมุกดา ทรงม้าเป็นพาหนะ

     พระจันทร์ มีกำลัง ๑๕ เป็นศุภเคราะห์

ลักษณะทั่วไป

     ดาวจันทร์ เป็นบริวารของโลก เป็นดาวธาตุดิน (ดินชุ่มน้ำ เพราะดาวจันทร์เป็นดาวเกษตร แม่ธาตุน้ำ ราศีกรกฏ) ดาวจันทร์เป็นดาวที่คู่กับ ดาวอาทิตย์ อย่างสนิทแนบแน่น แต่ก็เป็นไปในลักษณะคู่ขนานกันไป คือ พระราชา-พระราชินี  ขวา-ซ้าย ภาคกลางวัน-ภาคกลางคืน  ดาวจันทร์โคจรรอบโลก ตามหลักจันทรคติ ประมาณ ๒๙ วันเศษ (๒๙ วัน ๑๒ ชม. ๔๔ นาที) จึงทำให้ไม่ตรงกับหลักสุริยะคติ และเมื่อวันที่คลาดเคลื่อนสะสมกันได้ ประมาณ ๒๙ วัน ก็จะทำให้ในปีนั้น มีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน

     ใน ๑ เดือนดาวจันทร์จะโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ หรือดาวนักษัตร ๒๗ กลุ่ม  

     อัตราการโคจร ราศีละ  ๒ วันครึ่ง (เดินปกติ ไม่เดินแบบวิกลคติ (พักร มนท์ เสริด)) 

ความหมายทั่วไป

     ดาวจันทร์ ๒  สตรี จุดเจ้าชะตาหญิง  ภรรยา มารดา ประชาชนคนทั่วไป ครอบครัว หลักฐาน ฐานะ จิตใจ อารมณ์ จินตนาการ ช่างฝัน นัยน์ตา(ตาซ้าย) การเดินทาง ขนส่ง น้ำ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ สุภาพอ่อนหวาน รักครอบครัว สิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน

ทายจริต จิตใจ ทายจันทร์ 

บุคคล- พระราชินี สตรีสูงศักดิ์ พยาบาล แม่บ้าน แม่ครัว คนครัว นักเดินทาง กะลาสีเรือ คนขับรถ ชาวประมง แพทย์ผดุงครรภ์ ผู้ให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ประชาชนทั่วไป

  • สถานที่  โรงพยาบาล ท่าเรือ ท่ารถ ท่าขนส่ง สถานที่ที่เกี่ยวกับน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ แหล่งน้ำต่างๆ ตลาด แหล่งชุมชน
  • รูปร่าง อรชร ผิวงามตางาม ผิวขาว หรือขาวเหลือง มีน้ำมีนวล  หน้ารูปไข่ (บ้างว่ากลม)
  • กายวิภาค  นัยน์ตา (ตาซ้าย) ใบหน้า แขน มือ หน้าอก นม ต่อมไร้ท่อต่างๆ ฮอร์โมน มดลูก
  • ทิศ บูรพา (ตะวันออก) 
  • สี  ขาวนวล ขาว  เหลืองอ่อน 
  • อัญมณี ไข่มุก มุกดา
  • สัตว์  สัตว์เลี้ยง แมว เสือ ปู สัตว์น้ำ
  • พืช   พืชน้ำ พืชให้ผลกินได้ ผักสวนครัว
  • พฤกษาชาตา แก่น ,ลำต้น

 

ดวงดาว โหราศาสตร์

๓  ดาวอังคาร

     พระอังคาร - ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวรร่ายพระเวทย์ ให้กระบือ ๘ ตัวเป็นธุลี ห่อด้วยผ้าสีแก้ว เพทาย ประพรม ด้วยน้ำอำมฤต บังเกิดเป็นเทพ  สีกายเป็นสีแก้วเพทาย อาภรณ์คือ แก้วโกเมน วิมานสีทับทิม ทรงมหิงสาเป็นพาหนะ

     พระอังคารมีกำลัง ๘  เป็นบาปเคราะห์ 

ลักษณะทั่วไป

     มีขนาดใกล้เคียงกับโลก เป็นดาวธาตุลม (ลมกรด เพราะดาวอังคาร เป็นเกษตร เจ้าเรือนราศีเมษ ธาตุไฟ ซึ่งเด่นกว่า ที่ราศีพิจิก ธาตุน้ำ) ดาวอังคารมีสีแดง โหราศาสตร์ถือว่า พระอังคารเป็นเทพแห่งสงคราม

     อัตราการโคจร ราศีละประมาณ ๔๕ วัน (บางครั้งก็พักร มนท์ อยู่ถึง ๘ เดือนก็มี)

ความหมายทั่วไป

     ผู้ชาย วัยฉกรรจ์ สามี การกระทำ การงาน ความขยัน กล้าแข็ง กล้าหาญ เอาจริงเอาจัง กระตือรือร้น ภาระ ความรุนแรง แตกหัก  ความขัดแย้ง การต่อสู้  แข่งขัน อุบัติเหตุ กะทันหัน ทำลาย ของแหลมคม โลหะ อาวุธ เครื่องจักรกล

ทาย กล้า แข็ง ขยัน ทายอังคาร 

  • บุคคล ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปราบปราม ผู้ถืออาวุธ นายช่าง ช่างเทคนิค ช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ศัลยแพทย์ ช่างตัดผม ช่างตีเหล็ก นักมวย นักกีฬา ครูพละ 
  • สถานที่ ค่ายทหาร สถานีตำรวจ สรรพาวุธ ร้านขายอาวุธ ร้านเหล็ก สนามกีฬา ตึกศัลยกรรม
  • รูปร่าง  หน้ากระดูก ล่ำเตี้ย แบบมะขามข้อเดียว เกร็ง กำยำล่ำสัน มีกล้ามเนื้อ  หุ่นนักกีฬา ผิวขาวแดง(บ้างว่าดำ หรือดำแดง) กร้านหยาบ ตาโปน ผมหยักศก
  • กายวิภาค  หน้าผาก จมูก อวัยวะเพศ น้ำดี ตับไต กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
  • ทิศ อาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)
  • สี  ชมพู
  • อัญมณี โกเมน  
  • สัตว์  กระบือ ราชสีห์ กบ  
  • พืช  พืชมีหนามแหลมคม
  • พฤกษาชาตา ใบ

 


๔  ดาวพุธ

     พระพุธ - ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวร ร่ายพระเวทให้คชสาร ๑๗ เชือกป่นเป็นธุลี ห่อด้วยผ้าสีเขียวมรกต ประพรม น้ำอำมฤต บังเกิดเป็นเทพ สีกายเป็นสีแก้วมรกต ทรงช้างเป็นพาหนะ

     พระพุธ มีกำลัง ๑๗  เป็นศุภเคราะห์ 

ลักษณะทั่วไป

     ดาวพุธ เป็นดาวดวงเล็กที่สุด ในระบบสุริยะจักรวาล และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ตามหลักโหราศาสตร์ ดาวพุธจะอยู่ห่างจาก ดาวอาทิตย์ได้ไม่เกิน ๒๘ องศา ถ้าดาวพุธอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ตั้งแต่ ๒๗ –๒๘ องศา เรียกว่า “เพ็ญพุธ” ดาวพุธจะให้คุณในดวงชะตาอย่างเต็มที่ ดาวพุธเป็นดาวธาตุน้ำ (น้ำทะเล ,น้ำบ่อ เพราะดาวพุธได้ตำแหน่งเข้มแข็งในราศีกันย์ ธาตุดิน เป็นทั้งเกษตรและอุจ ) ดาวพุธมีลักษณะการโคจรที่ปวนแปร รวนเร มักจะเดินวิกลคติ อยู่บ่อยๆ จึงเป็นเหตุให้โบราณมักจะไม่เริ่มต้นทำอะไร หรือให้ฤกษ์ กับกิจการที่ต้องการให้ดำเนินการคงอยู่ยืดยาวออกไป เช่น การแต่งงาน เพราะพุธรวนเร  

     อัตราการโคจร ราศีละประมาณ ๒๙-๓๑ วัน หรือจำง่ายๆว่า ๓๐ วัน 

ความหมายทั่วไป

     อ่อนวัย สิ่งใหม่ การติดต่อสื่อสาร ความคิด การวางแผน การเจรจา การติดต่อสื่อสาร คำพูด ช่างพูด งานเขียน เอกสาร ตัวแทน นายหน้า  เพื่อน ข้อมูลข่าวสาร ไหวพริบปฏิภาณ เปลี่ยนใจง่าย  รวนเร ปรับตัวเข้ากับคนอื่น หรือสภาพแวดล้อมได้ดี 


ทายเจรจาอ่อนหวาน ทายพุธ

  • บุคคล นักพูด นักเขียน นักคิด นักวางแผน ตัวแทนนายหน้า คนกลาง ล่าม พ่อค้าแม่ค้า นักบัญชี บุรุษไปรษณีย์ คนถ่ายเอกสาร เสมียน นักการทูต คนมาใหม่ พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง
  • สถานที่ โรงพิมพ์ องค์การโทรศัพท์ ห้องประชุม เวทีปราศรัย ประตู หน้าต่าง ห้องประชาสัมพันธ์ ตึกใหม่ อาคารใหม่ 
  • รูปร่าง หน้าแป้น(บ้างก็ว่า หน้ามน)  รูปร่างไม่ใหญ่ เจ้าเนื้อ ท้วม ผิวขาว(บ้างก็ว่า ผิวขาวแดง) ตะโพกใหญ่ หน้าอกใหญ่ คอสั้น  ผมเรียบดก
  • ายวิภาค เส้นประสาท สมอง ลำไส้ ทางเดินหายใจ ปอด มือ แขน ลิ้น ฟัน ปาก
  • ทิศ  ทักษิณ (ใต้)
  • สี เขียว  
  • อัญมณี มรกต. หยก
  • สัตว์ ช้าง สุนัข นกที่พูดได้ เช่น นกแก้ว นกขุนทอง
  • พืช พืชที่มีดอกสีเขียว พืชล้มลุก ไม้ประดับ
  • พฤกษาชาตา ดอก

 

๕  ดาวพฤหัสบดี

     พระพฤหัส – ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวร ร่ายพระเวทให้ฤาษี ๑๙ ตน เป็นธุลี แล้วห่อด้วยผ้าสีแก้วไพฑูรย์ ประพรมน้ำอำมฤต บังเกิดเป็นเทพ มีสีกาย แก้วไพฑูรย์ มีวิมานบุษราคัม ทรงกวางทองเป็น พาหนะ

     พระพฤหัสบดี มีกำลัง ๑๙ เป็นศุภเคราะห์ 

ลักษณะทั่วไป

     ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ ดวงใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล ทางโหราศาสตร์ ถือว่าเป็นประธานของฝ่ายศุภเคราะห์ ดาวพฤหัสบดีเป็น ดาวธาตุดิน (ดินแข็ง เพราะดาวพฤหัสบดี เป็นเกษตร ราศีธนู ธาตุไฟ เรือนศุภะของโลก)

     อัตราการโคจร ราศีละ ประมาณ ๑ ปี

ความหมายทั่วไป

     คุณธรรมความดี ใฝ่ในบุญกุศล โชคลาภ ความสำเร็จ การเจริญเติบโต การเกิด การปกป้องคุ้มครอง การช่วยเหลือ กฎหมาย ระเบียบแบบแผน หลักการ ประเพณี การพิพากษา ตัดสินความต่างๆ ครูอาจารย์ พระ นักบวช ผู้ทรงศีล ความมีสติ การอดทนอดกลั้น ยับยั้งชั่งใจ ศาสนา วิชาการ ความรู้ ต่างประเทศ  

ทายปัญญาบริสุทธิ์ ทายพฤหัสบดี 

  • บุคคล ครูอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ พระ นักบวช ผู้ทรงศีล นักกฎหมาย ทนาย ผู้พิพากษา แพทย์ ผู้คุ้มครอง
  • สถานที่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล วัด รัฐสภา หอสมุด ศาล สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศาลาพักร้อน หอประชุมทางศาสนา 
  • รูปร่าง รูปร่างใหญ่ท้วม เจ้าเนื้อ ค่อนข้างอ้วน(บ้างก็ว่า สมส่วน) ผิวสองสีค่อนขาว หน้าใหญ่ หน้าผากใหญ่ แก้มใหญ่ มีแผลเป็น ตำหนิที่ใบหน้า
  • กายวิภาค กระเพาะ กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อและลิ้นหัวใจ ระบบเลือด ตะโพก โคนขา ปลายขา
  • ทิศ  ประจิม (ตะวันตก)
  • สี  สีขาว สีเหลืองเข้ม สีดอกจำปา สีส้ม
  • อัญมณี บุษราคัม 
  • สัตว์  กวาง หนู
  • พืช  พืชทุกชนิด พืชให้ผลกินได้ พืชให้ดอกสีส้ม แสด เหลืองเข้ม
  • พฤกษาชาตา ผล

 

๖  ดาวศุกร์

     พระศุกร์ -ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวร ร่ายพระเวทให้โค ๒๑ ตัว ป่น เป็นธุลี ห่อด้วยผ้าสีประภัสสรประพรมน้ำอำมฤต บังเกิดเป็นเทพ มีกายเป็นสีประภัสสร  มี วิมานสีทอง ทรงโคอุสุภราชเป็นพาหนะ

     พระศุกร์ มีกำลัง ๒๑ เป็นศุภเคราะห์

ลักษณะทั่วไป

     เป็นดาวธาตุน้ำ(น้ำฝน น้ำที่เคลื่อนไหวได้ เพราะดาวศุกร์เป็นเกษตร ในราศีตุลย์ ธาตุลม ) ดาวศุกร์มองเห็นได้เฉพาะในเวลาเช้ามืดหรือหัวค่ำเท่านั้น ขณะปรากฏในท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก เรียกว่า "ดาวประจำเมือง" และเมื่อปรากฏในท้องฟ้าเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออก เรียกว่า "ดาวประกายพรึก" หรือ "ดาวรุ่ง" ดาวศุกร์จะมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน ๔๘ องศา(ตามหลักดาราศาสตร์อยู่ห่างไม่เกิน ๔๗ องศา ๘ ลิปดา) ถ้าหากดาวศุกร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไป ตั้งแต่ ๔๕- ๔๘ องศา เรียกว่า “เพ็ญศุกร์” จะให้คุณแก่ดวงชะตามาก ในด้านความร่ำรวย ความสุขสมหวัง ความรัก  

     อัตราการโคจร ราศีละ ประมาณ ๓๐ วัน (เหมือนกับดาวพุธ คือโคจรราศีละ  ๒๙- ๓๑ วัน)

ความหมายทั่วไป

     ผู้หญิง ภรรยา ความรัก ความหวัง ความสุข ความสวยงาม ศิลปะ บันเทิงรื่นรมย์ ดนตรี เพศสัมพันธ์ กิเลส การเงิน เงินสด สิ่งหอมหวาน สิ่งฟุ่มเฟือย  

ทายกิเลสกำหนัด โภคทรัพย์ ทายศุกร์ 

  • บุคคล กวี ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ดารา นักแสดง นางแบบ ครูสอนศิลปะ นายธนาคาร สมุห์บัญชี แม่สื่อ พ่อสื่อ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ สถานบริการให้ความรื่นรมย์ ทางเพศ พ่อค้าปลีก คนทำขนม คนขายน้ำหอม 
  • สถานที่ สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเงิน เช่น ธนาคาร กระทรวงการคลัง โรงกษาปณ์ ร้านขายของค้าปลีก และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งรื่นรมย์ โรงแรม  โรงละคร ห้องแสดงศิลปะ โรงเรียนสอนร้องเพลง เต้นรำ
  • รูปร่าง หน้าแป้น(บ้างก็ว่าหน้ายาว) สูงเพรียว หน้าท้องแบนราบ หุ่นดีมีเสน่ห์ ผิวค่อนข้างขาว (บ้างก็ว่าขาวผ่อง) คอยาว แขนขายาว ผมบางและสลวย
  • กายวิภาค  ช่องท้อง ไต กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ มดลูก ระบบเลือด น้ำเหลือง ต่อมไร้ท่อ ต่อมลูกหมาก  อัณฑะ ลำไส้
  • ทิศ  อุดร (เหนือ)
  • สี    ฟ้า , น้ำเงิน
  • อัญมณี  ไพลิน
  • สัตว์  สัตว์เลี้ยงประเภทน่ารัก กระต่าย ปลาสวยงาม โค
  • พืช พืชให้ดอกสีฟ้า สีน้ำเงิน พืชที่ดอกมีกลิ่นหอม สวยงาม ให้รสหวาน
  • พฤกษาชาตา กระพี้ เปลือกไม้

 

๗  ดาวเสาร์

     พระเสาร์ - ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวร ร่ายพระเวทให้พยัคฆ์ ๑๐ ตัว ป่นเป็นธุลี ห่อด้วยผ้าสีดำ ประพรมน้ำอำมฤต บังเกิด เป็นเทพ มีสีกายเป็นสีดำ วิมานสีมรกต ทรงเสือเป็นพาหนะ

     พระเสาร์ มีกำลัง  ๑๐  เป็นบาปเคราะห์ 

ลักษณะทั่วไป

     เป็นดาวขนาดใหญ่รองจากดาวพฤหัสบดี เป็นประธานของดาว บาปเคราะห์ เป็นดาวธาตุไฟ (ไฟสุมขอน เพราะดาวเสาร์เป็นเกษตร ราศีมังกร ธาตุดิน)

     อัตราการโคจร ราศีละประมาณ ๒ ปี ๖ เดือน 

ความหมายทั่วไป

     เป็นดาวที่ให้คุณให้โทษช้า ๆ แต่หนักแน่นมั่นคง สะสมใน ระยะยาว ในทางลบ เป็นดาวที่ให้ความทุกข์ แต่ในทางบวกก็ให้ความทรหด อดทนต่อสภาพที่เลวร้ายได้ดี มีธรรมชาติเป็นไฟสุมขอน คุกรุ่นแล้วดับยาก เมื่อเข้าร่วมกับดาวดวงใดมักหน่วงเหนี่ยวให้เฉื่อยชาลง คิดรอบคอบ ตรึกตรอง วิตกกังวล ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์  วัสดุ ล่าช้า เนิ่นนาน เก่าโบราณ ของเก่า เหน็ดเหนื่อย โรคเรื้อรัง  คนแก่ สันโดษ ความทุกข์ โทษ ความยากจน การพลัดพราก โยกย้าย ความตระหนี่ มัธยัสถ์ 

ทายโทษทุกข์ ทายเสาร์

  • บุคคล คนแก่ คนหัวโบราณ ผู้ใช้แรงงาน คนงาน เจ้าของโรงงาน เกษตรกร สัปเหร่อ คนที่ยุ่งเกี่ยวกับงานศพ ช่างก่อสร้าง คนที่เกี่ยวข้องกับงาน เกษตรกรรม  อสังหาริมทรัพย์ ป่าไม้ ผู้คุมนักโทษ คนแขก
  • สถานที่ พื้นที่เกษตรกรรม ที่นา ไร่ สวน กระทรวงเกษตรฯ กรมป่าไม้ ป่าไม้ โรงสีข้าว โกดังเก็บวัสดุต่างๆ ป่าช้า ห้องเก็บศพ  เรือนจำ สถานที่โบราณ อาคารเก่า  
  • รูปร่าง รูปร่างสูง ผิวคล้ำค่อนข้างดำ กร้าน หน้ากระดูกและตกกระ  โหนกแก้มสูง คิ้วเข้ม จมูกงุ้ม ริมฝีปากหนา หน้าตาออกเป็นคนแขก
  • กายวิภาค กระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นเลือด ประสาท หัวเข่า ขา
  • ทิศ  หรดี (ตะวันตกเฉียงใต้)
  • สี ดำ ม่วงเข้ม  
  • อัญมณี  นิล
  • สัตว์ พญานาค งู สัตว์เลื้อยคลาน ปลา เสือ
  • พืช  ไม้ยืนต้น (บ้างก็ว่า ไม้เถา ไม้เลื้อย) ต้นไม้ในที่แห้งแล้ง ทะเลทราย
  • พฤกษาชาตา  กิ่ง คาคบ

  

๘ ราหู

     พระราหู - ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวร ร่ายพระเวท ให้หัวผีโขมด ๑๒ หัว เป็นธุลี ห่อด้วยผ้าสีทองสัมฤทธิ์ ประพรมน้ำอำมฤต บังเกิดเป็นเทพ สีกายเป็นทองสัมฤทธิ์ วิมานสีนิล ทรงครุฑเป็นพาหนะ

     มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ราหูและเกตุ ว่าในครั้งที่เหล่าเทพและยักษ์ ร่วมมือร่วมแรงกันกวนเกษียรสมุทร ให้เป็นน้ำอำมฤต โดยมีพระนารายณ์ เป็นประธาน เมื่อได้น้ำอำมฤตแล้วฝ่ายเทพก็แบ่งปันกันดื่ม แต่ออกอุบาย กลลวงกันไม่ให้ยักษ์ดื่มกิน มีแต่ราหู ที่เล็ดลอดไปแอบดื่มน้ำอำมฤตได้ แต่พระอาทิตย์ และจันทร์เห็นเข้า จึงฟ้องพระนารายณ์  พระนารายณ์จึงขว้างจักรตัดร่างราหูเป็นสองท่อน ราหูนั้นได้ดื่มน้ำอำมฤตไปบ้างแล้วจึงทำให้เป็นอมตะ ไม่ตายเพียงแต่ร่างแยกออกจากกัน ส่วนหัวเป็นราหู ส่วนหางก็เป็นเกตุ

     พระราหู มีกำลัง ๑๒ เป็นบาปเคราะห์

ลักษณะทั่วไป

     ราหู ในทางโหราศาสตร์ ไม่จัดว่าเป็นดาว เพราะเป็นจุดคราส เกิดจากจุดตัดของการโคจรของโลก ราหูจึงเป็นเงา แต่ก็เรียกๆกันไปว่า ดาวราหู เพราะเรียกกันติดปาก(บางครั้งผมก็เผลอเรียกว่าดาว เหมือนกันครับ) ราหูนั้นทำให้เกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคา

     ราหู เป็นธาตุลม (ลมพายุ เพราะราหูเป็นเจ้าเรือนเกษตรราศีกุมภ์ ธาตุลม )

     อัตราการโคจร ราศีละ ๑ ปี ๖ เดือน (เดินปกติ ไม่เดินแบบวิกลคติ (พักร มนท์ เสริด)) 

ความหมายทั่วไป

     ความมืดมัว เงา มายา ภาพยนตร์ โจร ความลุ่มหลง เล่ห์เหลี่ยม ไหวพริบปฏิภาณ การเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านดีและร้าย ผันผวน ไม่แน่นอน เสี่ยงโชค คดีความ สิ่งผิดกฎหมาย  การหลอกลวง ภัยมืด อุบัติเหตุ หลบซ่อน อบายมุข สังคม ยาเสพติด สุรา สิ่งมอมเมา สารเคมี ของหมักดอง ขยะ

ทายลุ่มหลง มัวเมา ทายราหู

  • บุคคล นักเลง ผู้มีอิทธิพล นักพนัน นักค้าของเถื่อน คนขายเหล้า ผู้ติดยาเสพติด ติดเหล้า โจร ขโมย คนจรจัด คนจีน นักมายากล  
  • สถานที่ โรงเหล้า สถานที่ที่เป็นแหล่งอบายมุข สิ่งเสพติด โรงภาพยนตร์ สถานที่ที่ต้องอาศัยเงาในการทำกิจกรรม (หนังตะลุง หนังใหญ่ เป็นต้น) โรงงานเคมี โรงกลั่นน้ำมัน
  • รูปร่าง รูปร่างอ้วนล่ำใหญ่ ลงพุง ผิวดำ(บ้างก็ว่าขาว) แขนขาใหญ่ ศีรษะใหญ่ หัวล้าน หัวเถิก ผมบาง ตาวาว ตาพอง ตาหยี มีลักษณะเหมือนคนจีน หรือ เป็นคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี
  • กายวิภาค น่อง แข้ง ขาส่วนล่าง
  • ทิศ  พายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ)
  • สี  เทา ควันบุหรี่ สีหม่นๆ สีน้ำตาลไหม้  ทองสัมฤทธิ์
  • อัญมณี  โปงคราม โมรา มุกดา (บางตำราก็ให้ มุกดา เป็นอัญมณีของจันทร์ด้วย)
  • สัตว์  ปลวก มอด แมลง สุนัขสีดำ เชื้อโรค
  • พืช  เห็ด รา  ไม้เลื้อย ไม้เถา พืชมีกลิ่น เช่น ทุเรียน
  • พฤกษาชาตา มอด ด้วง


๙ เกตุ

     พระเกตุ - ตามคัมภีร์เฉลิมไตรภพ พระอิศวร ทรงร่ายพระเวท ให้พระยานาค ๙ ตัวเป็นธุลี ห่อด้วยผ้าสีทองคำ ประพรมด้วยนํ้าอำมฤต บังเกิดเป็นเทพ  มีสีกายทองคำ อันสุกสกาวดังเปลวไฟ ทรงนาค เป็น พาหนะ

     เกตุ มีกำลัง ๙ (บางตำราว่าไม่มี ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นระบบ อัฏฐโตตรี) เป็นบาปเคราะห์ 

ลักษณะทั่วไป

     เกตุ ไม่มีเรือนเกษตรของตัวเอง เป็นวิญญาณธาตุ เป็นท่อนหางของราหูโหราศาสตร์สากลทั่วไป กำหนดให้เกตุและราหู มีระยะเชิงมุมห่างกัน ๑๘๐ องศาเสมอ (อยู่ในมุมเล็งกันตลอด) แต่สำหรับโหราศาสตร์ไทย ใช้การคำนวณแบบสุริยยาตร์ เกตุจึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเล็งราหูแบบสากล เกตุเมื่อเข้าร่วมกับ ดาวใด ก็มักจะสนับสนุนให้ดาวนั้นทำหน้าที่ได้มากยิ่งขึ้น มีพลังมากขึ้น

     ในระบบดาวเสวยอายุ ที่กำหนดให้มีเกตุ เข้าเสวยอายุด้วยนั้นเรียกว่า ระบบวิมโสตรีทศา 

     อัตราการโคจร ราศีละประมาณ ๕๕ วัน (เดินปกติ ไม่เดินแบบวิกลคติ (พักร มนท์ เสริด))

ความหมายทั่วไป

     แสง รังสี กระแสคลื่น ดาวหาง การเคลื่อนไหว คนบ้า วิกลจริต คนผิดปกติ ความผันผวน วุ่นวาย กังวล ความผิดปกติ ผิดธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ สัมผัสที่หก วิญญาณ เทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เดินทางไกล ต่างแดนถิ่นไกล ต่างประเทศ โหราศาสตร์ อิทธิฤทธิ์

ทายอายุยืน ทายเกตุ 

  • บุคคล นักเดินทาง นักผจญภัย จารชน คนต่างชาติ โหร หมอดู คนทรง ช่างวิทยุโทรทัศน์ ผู้แสวงบุญ คนแก่ คนพิการ หญิงมีครรภ์ 
  • สถานที่ วัดร้าง เทวาลัยร้าง บ้านร้าง สถานที่ที่มีวิญญาณสิงสถิต สถานที่ลึกลับ ตึกสูง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัด โบสถ์ ตำหนักร่างทรง สถานีวิทยุโทรทัศน์ โรงไฟฟ้า  
  • รูปร่าง   คนขี้เหร่ ไม่สมประกอบ พิการ คนแก่ชรา
  • กายวิภาค  วิญญาณ  ชีวิต
  • ทิศ   ไม่มี
  • สี  สีรุ้ง เลื่อมพราย ส่องแสงเป็นประกาย   
  • อัญมณี ไม่มี
  • สัตว์ สัตว์โบราณ สัตว์ในวรรณคดี
  • พืช  ต้นไม้ยืนต้นที่มีวิญญาณสิงสถิต
  • พฤกษาชาตา ไม่มี (ตำราพฤกษาชาตา กำหนดไว้ดาว  ๑ - ๘ )


๐ มฤตยู

     ดาวมฤตยู เป็นดาวใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ โดยชาวตะวันตก คือ เซอร์วิลเลียม เฮอร์เชล (Sir William Herschel) พบในปี ค.ศ. 1781 หรือ พ.ศ. ๒๓๒๔ หรือเมื่อ ๒๓๒ ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ไม่มีเรื่องราวตำนาน ในคัมภีร์เฉลิมไตรภพ และหลังจากนั้นจึงได้เริ่มนำมาใช้ในทางโหราศาสตร์  กำหนดให้เป็น อากาศธาตุ เป็นบาปเคราะห์

     ดาวมฤตยู ในด้านความหมาย รายละเอียดต่างๆ ที่ใช้ในทางโหราศาสตร์ ยังมีไม่มากนักและยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ เท่าที่ยอมรับและทราบก็ มีตามพิมพ์ไว้พอสังเขป เท่านี้ครับ

     อัตราการโคจร ราศีละ ๗ ปี

ความหมายทั่วไป

     กระแสคลื่นต่างๆ ที่มองไม่เห็น คลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ ความเครียด วิกฤติ กะทันหัน ความรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ไม่รู้ตัว ความลับ ไม่เปิดเผย ความวิบัติ ความตาย การโยกย้าย ต่างแดนถิ่นไกล ต่างประเทศ วิญญาณ โหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สิ่งลี้ลับ ว่างเปล่า โรคภัย 

  • บุคคล โหร หมอดู นักปฏิวัติ นักวิทยาศาสตร์ ผู้สำเร็จญาณวิเศษ หมอผี คนเล่นของ-คุณไสย
  • สถานที่ บ่อน้ำ หลุมหลบภัย อุโมงค์ ถ้ำ  

ทายอาเพศ ทายมฤตยู

ขอบคุณเนื้อหาจากอ.ปราณเวท โหราพยากรณ์ เว็บไซต์ http://www.horapayakorn.com

บทความที่คุณอาจสนใจ

ดูดวงความรัก เนื้อคู่ตามวันเกิด นิสัยแบบคุณต้องเจอเนื้อคู่แบบไหน มาดูกัน!


ทำความรู้จัก 12 ภพ เรือนชะตาตามหลักโหราศาสตร์ไทย


หากยังอ่านดวงไม่จุใจ ติดตามอ่านดวงแบบอื่นๆ ได้ที่นี่

ดวงรายวัน

 

ดวงรายสัปดาห์

 

ดวงรายปักษ์

ดวงรายเดือน

 

เลขมงคล

 

ฤกษ์มงคล