นรสิงห์ ร่างอวตารครั้งที่ 4 ของพระนารายณ์ มีลักษณะเป็นครึ่งบนเป็นสิงโต ครึ่งล่างเป็นมนุษย์ ถือเป็นเทพจากฮินดูที่นิยมบูชาเพื่อปัดเป่า ป้องกัน และขจัดสิ่งชั่วร้าย หากใครมีปัญหาเรื่องที่อยู่ เคหะสถาน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ มีอาถรรพ์ มีมนตร์ดำ หรือสิ่งใด ๆ ไม่ชอบมาพากล ต้องการแก้คุณไสย ขอแนะนำให้ลองบูชา นรสิงห์ตำนานของนรสิงห์นั้นมีส่วนผูกโยงกับเรื่องของเทพอีก 2 องค์คือ คันทเภรุน และ ปรัตยังกีร่าเทวี ซึ่งเป็นไปตามแบบของลัทธิไศวะ โดยได้สรุปเนื้อหาไว้ในท้ายเรื่องนี้แล้วเรื่องราวดั้งเดิมนั้นเป็นของลัทธิไวษณพ ซึ่งบูชาพระนารายณ์ (พระวิษณุ) เป็นใหญ่ เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ กุมารทั้งสี่ของพระพรหม คือ สนก สนนฺทน สนาตน และสนตฺกุมาร ต้องการเข้าพบพระนารายณ์ที่ ไวกูณฐ์สถาน แต่ว่าทวารบาลทั้งสองคือ ชยะ และ วิชยะ เห็นกุมารทั้งสี่เหมือนเด็กที่จะมาเล่นซน ทั้งที่จริงกุมารทั้งสี่มีอายุมากแล้วแต่รูปลักษณ์ยังคงเป็นเด็ก จึงเข้าขัดขวางและแจ้งต่อกุมารทั้งสี่ว่าพระนารายณ์ทรงพักผ่อนอยู่ ซึ่งนั่นทำให้กุมารทั้งสี่รู้สึกโกรธและตอบกลับไปว่า พระนารายณ์พร้อมให้พวกเราพบเสมอ จากนั้นจึงสาปชยะและวิชยะให้หมดความเป็นเทวดา และจะต้องลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ ในเวลาเดียวกันนั้นเองพระนารายณ์ทรงออกมาพอดี ทั้งชยะและวิชยะจึงขอให้พระนารายณ์ทรงถอนคำสาปให้ แต่พระนารายณ์ก็มิอาจทำได้ โดยอธิบายว่า จากนี้ไปมี 2 ทางเลือกคือ 1. ไปเกิดยังโลกมนุษย์เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับพระนารายณ์ 7 ชาติ หรือ 2. ไปเกิดยังโลกมนุษย์เป็นศัตรูกับพระนารายณ์ 3 ชาติ ซึ่งทวารบาลทั้งคู่ได้เลือกทางเลือกที่ 2 คือเป็นศัตรูกับพระนารายณ์ เพราะไม่ต้องการห่างจากพระนารายณ์ไปนาน โดย ชยะ และ วิชยะ ในชาติแรกต้องเกิดเป็น หิรัณยกศิปุ และ หิรัณยักศะ นั่นเองกาลต่อมา หิรัณยักศะ และ หิรัณยกศิปุ ได้เกิดเป็นพี่น้องกัน ทว่า หิรัณยักศะผู้น้องถูกฆ่าโดย วราหะ (อยู่ในเรื่องราวการอวตารพระนารายณ์ครั้งที่ 3) ทำให้หิรัณยกศิปุโกรธแค้นและต้องการล้างแค้นพระนารายณ์เป็นอย่างมาก จากนั้นเป็นต้นมา หิรัณยกศิปุจึงได้บำเพ็ญเพียรถวายต่อพระพรหม กระทั่งพระพรหมได้ประทานพรให้ หิรัณยกศิปุจึงขอพรความดังนี้ ขอให้ฆ่าข้าไม่ตายทั้งในและนอกเรือน ไม่ตายทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ตายทั้งบนพื้นดินในท้องฟ้าหรือในน้ำ ไม่ตายด้วยมือหรืออาวุธใดของ มนุษย์, สัตว์ หรือเทพเทวาที่สร้างโดยท่าน (พระพรหม) ซึ่งพระพรหมก็ยินดีให้พรตามต้องการนั่นทำให้ หิรัณยกศิปุ เริ่มการปฏิวัติด้วยการตั้งตัวเป็นใหญ่และตามล่าผู้ใดก็ตามที่เห็นต่างยังเคารพในพระนารายณ์อยู่ แต่หนึ่งในผู้เห็นต่างกลับเป็น ประหลาท ซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งของหิรัณยกศิปุเสียเอง นั่นทำให้หิรัณยกศิปุโกรธมากและพยายามสังหารประหลาทแต่ว่าก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะประหลาทได้รับการปกป้องด้วยพลังวิเศษจากพระนารายณ์ กระทั่งวันหนึ่งในยามสนธยา หิรัณยกศิปุโมโหมากที่ประหลาทยังคงนับถือพระนารายณ์อยู่ จึงชี้ไปยังเสาหินต้นยักษ์แล้วถามประหลาทว่า "ถ้าเจ้าบอกว่าพระนารายณ์อยู่ทุกหนทุกแห่งแล้วเขาจะโผล่หัวมาอยู่ต่อหน้าข้าจากในเสานี้ด้วยไหมล่ะ" ประหลาทพยักหน้าแล้วตอบทันทีว่า "แน่นอนพระนารายณ์นั้นสถิตอยู่ทุกที่และที่เสาต้นนี้ด้วย"หิรัณยกศิปุควบคุมความโกรธตัวเองต่อไปไม่ไหวจึงใช้กระบอง (Mace) ฟาดเข้าที่เสาต้นนั้นด้วยความแรงทำให้เสาแตกเป็นสองซีก และนรสิงห์อวตารของพระนารายณ์ก็ปรากฏกายออกมาจากรอยแตกของเสานั้นทันทีนรสิงห์นั้นไม่รอช้าเข้าทำลายกองทหารของหิรัณยกศิปุแบบสายฟ้าแลบ จากนั้นจึงปราดเข้าคว้าตัวหิรัณยกศิปุมายังบริเวณธรณีประตู ยกชันเข่าข้างหนึ่งขึ้นนำตัวหิรัณยกศิปุพาดไว้ แล้วประกาศก้องขึ้นทันทีว่า "เวลานี้เป็นยามสนธยา ใช่กลางวันหรือกลางคืนไม่ ... ไม่ ที่นี่ใช่ในหรือนอกเรือนไม่ ... ไม่ บนเข่าข้านี้ใช่พื้นดิน ท้องฟ้า หรือในน้ำไม่ ... ไม่ ข้าเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือเทพเทวาที่สร้างโดยพระพรหมหรือไม่ ... ไม่ นั่นแปลว่ากรงเล็บของฆ่าย่อมฆ่าเจ้าได้ พรของพระพรหมที่เจ้าได้รับสิ้นสุดลงตรงนี้แล้ว" จากนั้นนรสิงห์จึงใช้กรงเล็บฉีกอกของหิรัณยกศิปุแล้วดึงเอาเครื่องในออกมา เป็นการสิ้นสุดชีวิตของหิรัณยกศิปุทว่าแม้หิรัณยกศิปุได้สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ความคลุ้มคลั่งของนรสิงห์หาได้สิ้นสุดลงไม่ พระพรหมจึงขอให้ประหลาทสวดถวายความภักดีต่อองค์พระนารายณ์จึงทำให้นรสิงห์สงบลงได้ และเนรมิตตัวกลับไปยังดินแดนของตนเป็นพระนารายณ์ตามเดิม เรื่องราวทั้งหมดได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ แต่ ...ในส่วนของลัทธิไศวะ ซึ่งบูชาพระศิวะเป็นใหญ่ มีเรื่องราวต่อมาว่า หลังนรสิงห์คลุ้มคลั่งแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดสามารถสงบนรสิงห์ลงได้ เพราะนรสิงห์ได้ดื่มเลือดของหิรัณยกศิปุเข้าไปจึงทำให้เป็นพิษเกิดความคลุ้มคลั่งและอาจทำให้โลกกลายเป็นไฟได้ ร้อนถึงพระศิวะต้องแปลงเป็น อสูรเทพวีรภัทร หรือปางดุร้ายของพระศิวะ ลงมาสู้กับนรสิงห์ แต่ก็ล้มเหลว จากนั้นพระศิวะจึงแปลงเป็น พระศรเภศวร ซึ่งเป็นสัตว์ในจินตนาการของพระศิวะ มีลักษณะครึ่งสิงห์ครึ่งนก และมี 8 ขา ตรงเข้าจับตัวนรสิงห์จนดิ้นไม่หลุด แต่นรสิงห์กลับไม่ยอมแพ้จำแลงเพิ่มกายเป็นคันทเภรุนคันทเภรุนนี้ยังแยกเป็นอีก 3 เรื่องราวในตอนจบของเรื่องนี้คือลัทธิไวษณพ อ้างอิงว่า คันทเภรุนเข้าจับ พระศรเภศวร แหกอกและควักไส้ออกมา พระศิวะจึงยอมแพ้ สิ้นสุดเรื่องราวเพียงเท่านี้ลัทธิไศวะ อ้างอิงว่า พระศิวะส่งสัญญาณไปยังพระแม่อุมา และพระแม่อุมาได้แสดงกายขึ้นมาจากร่างของพระศรเภศวรส่วนหัว จากนั้นจึงรวมร่างกับพระศิวะ กลายร่างเป็น ปรัตยังกีร่าเทวี โดยมีส่วนบนเป็นพระศิวะและส่วนล่างเป็นพระแม่อุมา แล้วจึงปราบ คันทเภรุน ลงได้เป็นอันสิ้นสุดเรื่องราว ลัทธิไศวะ ยังมีการเล่าในอีกแบบว่า นรสิงห์หลังถูกพระศรเภศวรจับตัวจึงได้เรียก คันทเภรุน ในรูปของนกสองหัวเข้าร่วมรบ ซึ่งคันทเภรุนสู้กับพระศรเภศวรเป็นเวลานานก็ยังไม่รู้ผล และนรสิงห์เองเริ่มฟื้นคืนกำลังได้แล้ว พระศิวะในร่างของพระศรเภศวรจึงได้เรียก ปรัตยังกีร่าเทวี งอกออกเป็นปีกหนึ่งและ ชิลินีเทวี เป็นอีกปีกหนึ่ง กลายร่างเป็นพระศรเภศวรขั้นสุด โดยเทวีทั้งสองเข้าทำลาย คันทเภรุน ส่วนพระศรเภศวรเข้าปราบนรสิงห์อีกครั้งจนสิ้นฤทธิ์ เป็นอันจบเรื่องราวจากเรื่องราวทั้งหมดนี้การบูชา นรสิงห์ นั้นจึงเป็นไปเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และทำลายอาถรรพ์ต่าง ๆ ในที่พักอาศัย เคหะสถาน รวมถึงการเอาชนะศัตรูด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ นรสิงห์ได้เอาชนะหิรัณยกศิปุ โดยมีหลายแบบให้บูชาทั้งในแบบรูปภาพ หรือ รูปปั้นขนาดทั้งเล็กและใหญ่ การบูชาให้หันหน้าองค์นรสิงห์ออกไปทางหน้าบ้าน เพื่ออานุภาพด้านขจัดอาถรรพ์ มนตร์ดำ ที่อยู่ในพื้นที่นั้น และป้องกันที่จะมาเพิ่มเติม ส่วนรูปหล่อขนาดเล็กพกติดตัว เช่น จี้ ให้พกไว้ยามเดินทาง หรือหากเป็นแบบตั้งบูชาบนรถให้หันหน้าไปทางหน้ารถ (ไม่หันเข้าตัว) เชื่อว่าจะทำให้แคล้วคลาด มีอุบัติเหตุก็ผ่อนหนักเป็นเบาได้นรสิงห์นี้มีกำลังมากเป็นลำดับต้น ๆ ของเทพฮินดูด้านการทำลายสิ่งชั่วร้าย บ้างจึงเชื่อว่าบูชานรสิงห์องค์เดียวอาจแรงเกินไป ต้องบูชาพระแม่ลักษมีเพิ่มด้วย เพื่อให้องค์นรสิงห์เย็นลงสักหน่อย ส่วนนี้แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่ามีอานุภาพของการขจัดโรคภัยได้ด้วย เนื่องจากในกาลต่อมาพระนารายณ์ได้อวตารเป็นนรสิงห์อีกครั้งเพื่อทำการขจัดเภทภัยจากโรคระบาดคาถาบูชา นรสิงห์ มีดังนี้อิมินา สักกาเรนะ นะระสิงหาวะตารังมะหาเทวัง สิระสา นะมามินะมะการานุภาเวนะ หันตะวา สัพเพ อุปัททะเวอะเนกา อันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโตฯทีฆะมัทธานัง นะระสิงหาวะตาระมหาเทวาสัพเพ อัมเห สะปะริวาเร อนุรักขันตุ สัพพะทาฯข้าพเจ้า ขอน้อมสักการะบูชา พระนรสิงห์วตาร ด้วยความเคารพ ขอมหาเทวบารมีแห่งพระองค์ จงประพรทาน คุ้มครอง ข้าพเจ้า จากนี้ สืบไปเทอญการบูชานรสิงห์จึงคล้ายกับการบูชาเทพจงขุยที่ได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ หากมีปัญหาเรื่องอาถรรพ์ คุณไสย มนตร์ดำ ค่อยบูชา แต่หากไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวอาจเลือกบูชาพระนารายณ์ปางอื่น ๆ ก็จะมีอิทธิฤทธิ์ที่ตรงตามต้องการมากกว่า เช่น เมตตามหานิยม ค้าขายรุ่งเรืองฯ เป็นต้นเชิงอรรถคันทเภรุน ในฉบับ ลัทธิไวษณพ จะมีลักษณะแตกต่างจาก ลัทธิไศวะ ดังนี้คันทเภรุน ลัทธิไวษณพ ตามภาคภาษาอังกฤษ คือ Ashtamukha Gandabherunda Narasimha เป็นร่างขั้นสุดของ นรสิงห์ ซึ่งมีให้บูชาอยู่ โดยมีอานุภาพเหมือนนรสิงห์ทุกประการ แต่มีกำลังสูงสุดในภาคของ นรสิงห์คันทเภรุน ลัทธิไศวะ เป็นนกสองหัวและเป็นสัตว์บริวารของพระนารายณ์ปรัตยังกีร่าเทวี เป็นอีกหนึ่งองค์เทพที่นิยมบูชากัน โดยมีเศียรเป็นพระศิวะ และมีกายเป็นพระแม่อุมาเทวี ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการร่วมรบจนชนะนรสิงห์ หรือ คันทเภรุน จึงเชื่อกันว่า มีอานุภาพด้านอำนาจ บารมีที่สูงมากชยะ และ วิชยะ ในชาติที่ 2 ได้เกิดเป็น ทศกัณฐ์ และ กุมภกรรณ สู้กับ พระราม ส่วนชาติที่ 3 เกิดเป็น กังสะ และ ศิศุปาล สู้กับ พระกฤษณะ แล้วจึงกลับเป็นทวารบาลให้พระนารายณ์ยังไวกูณฐ์สถานตามเดิมขอบคุณภาพประกอบภาพปก และ ภาพ 5 pixahive - As Dnyaneshwarภาพ 1 Wikimedia Commons - British Museumภาพ 2 Wikimedia Commons - Los Angeles County Museum of Artภาพ 3 Wikimedia Commons - Rajasekhar1961ภาพ 4 flickr - Leon Meersonภาพ 6 ผู้เขียน - การ์ดที่ระลึก วัดพระศรีอุมาเทวี สีลมภาพ 7 flickr - Balaji Srinivasanภาพ 8 Wikimedia Commons - Wayoyoเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !