การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงสามารถปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ไหน ๆ ที่เราอยู่หรือไป ปฏิบัติได้ในระหว่างวันของการดำรงชีวิต ตลอดทั้งวันและคืนในทุกอิริยาบท ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งก่อนหลับ แต่นั่นน่าจะเหมาะกับคนที่พอจะเข้าใจหลักปฏิบัติหรือเคยไปปฏิบัติธรรมมาบ้าง แล้วนำความรู้ทักษะและประสบการณ์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันแต่สำหรับผู้เริ่มต้น ที่ไม่มีเวลา หรือไม่สะดวกในการศึกษาด้วยตนเอง ยังต้องการครูบาอาจารย์ ต้องการสถานที่ที่เหมาะต่อการปฏิบัติ ต้องการฝึกอย่างเป็นระเบียบ และที่สำคัญ ต้องการเพื่อนร่วมปฏิบัติที่จะช่วยเสริมกำลังหรือพลังในการปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น ต้องแนะนำให้หาสถานที่ปฏิบัติที่ถูกใจ ถูกจริต ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก และปลอดภัย ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนจะมารีวิวสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ ณ วัดถ้ำสุมะโน จังหวัดพัทลุง มาให้เพื่อน ๆ หรือนักปฏิบัติได้ศึกษาข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางมาปฏิบัติธรรมกัน (แต่ต้องออกตัวก่อนว่าการรีวิวรอบนี้ เนื่องจากผู้เขียนนำสิ่งที่มาจริงมาเขียนและมาปฏิบัติธรรมเพียงคนเดียว ดังนั้นการถ่ายรูปขณะปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยจึงไม่สะดวกนัก และจะไม่ได้ภาพการปฏิบัติแบบถ่ายรูปคนตอนปฏิบัติ เป็นการเก็บภาพตอนว่างจากการปฏิบัติและตอนที่ใกล้ถึงเวลาปฏิบัติเท่านั้น การเดินทางสำหรับผู้เขียนในรอบนี้ถือเป็นการมาบวช แบบบวชชีพราหมณ์ เป็นครั้งที่ 2 ด้วยความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ จึงเดินทางมาเพียงคนเดียว เพราะเพื่อนที่จะมาด้วยเกิดมีเหตุจำเป็นไม่สามารถร่วมมาได้กะทันหัน แต่ไม่เป็นไร เส้นทางนี้ต้องโดดเดี่ยวได้ แต่ก็ไม่หวั่นนะ เริ่มเดินทางตั้งแต่เช้า การเดินทางสะดวก สามารถค้นหาข้อมูลแผนที่การเดินทางจาก Google Map ไปถึงวัด ถ้าขับรถมาทางถนนเพชรเกษม จากเมืองพัทลุงมุ่งหน้าจังหวัดตรัง ระยะทาง 25 กิโลเมตร โดยประมาณ (ตำแหน่งจาก Google Map ลิงก์)ขาไปแวะร้านอาหารครัวคุณอ้อยก่อนถึงถ้ามาจากฝั่งเมืองพัทลุงทางด้านซ้ายมือ สามารถแวะจอดรับประทานอาหารพื้นถิ่น รสชาด แบบคนใต้เข้มข้น ถึงใจ ที่ร้านครัวคุณอ้อย ที่ร้านมีเมนูประจำถิ่นพัทลุง คือ น้ำพริกกะลา หรือ "น้ำชุบพรก" (คำว่า "น้ำชุบ" แปลว่า "น้ำพริก" ส่วนคำว่า "พรก" แปลว่า "กะลา") ที่มีสวนประสมของใบทำมัง หรือที่บางคนเรียกว่า "แมงดาต้น" ซึ่ง ใบไม้และต้นของเขาจะมีกลิ่นเหมือนแมงดานา โดยการตำน้ำพริกเหมือนกับน้ำพริกทั่วไป แต่ไม่ใส่มะนาว จะมีเพียง กะปิ พริก กระเทียม หอม กุ้งหรือปลาแห้ง รวมทั้งใบทำมังมาหั่นบาง ๆ บางคนจะใส่น้ำผึ้งแว่นหรือน้ำตาลปี๊บเพิ่มความหวานนิดหน่อย ตำให้เข้ากัน แล้วตักน้ำชุบปาดใส่ในกะลามะพร้าว ลาหรือทาเป็นแผ่นบาง ๆ ให้ทั่ว แล้วนำไปย่างบนตะแกรงด้วยไฟอ่อนถึงปานกลาง ให้ทั่วทุกด้านจนน้ำพริกแห้งได้ที่ กลิ่นหอมลอย ก็เป็นอันเสร็จ พร้อมรับประทาน การเข้าบวชและลาบวช การเข้าบวช ผู้บวชจะเข้าบวชเวลาไหนก็ได้ในเวลากลางวัน ควรมาก่อน 4 โมงเย็น การบวชจะบวชชี หรือบวชชีพราหมณ์ก็ได้ สามารถเข้ามาที่วัดจะมีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับลงทะเบียนหรือรับการติดต่อ โดยจะต้องเตรียมบัตรประชาชนตัวจริงมายื่นและเก็บไว้กับเจ้าหน้าที่ตลอดการปฏิบัติธรรม สามารถมาเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม หลังจากที่ลงทะเบียนเสร็จทางเจ้าหน้าที่จะให้หนังสือคู่มือและหนังสือสวดมนต์ มา 2 เล่น สำหรับใช้ระหว่างการปฏิบัติธรรม และจะแนะนำไปยังที่พัก เพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งกายตามระเบียบของวัด โดยจะมีการซ้อมบวชโดยแม่ชีพี่เลี้ยงในเวลาประมาณ 5 โมงเย็น หากไปถึงก่อนเวลาหากเปลี่ยนเครื่องแต่งกายแล้วสามารถเข้าร่วมการปฏิบัติกับนักปฏิบัติธรรมท่านอื่นได้ และจะมีพระอาจารย์บวชให้หลังจากการทำวัตรเย็น ไหว้พระสวดมนต์ และเจริญพระกัมมัฏฐานเสร็จประมาณเวลา 3 ทุ่ม ส่วนการลาบวช ต้องลาบวชตอนเช้าหลังจากทำวัตรเช้า ไหว้พระสวดมนต์ และเจริญพระกัมมัฏฐานเสร็จ โดยจะมีการซ้อมลาบวชก่อนลาบวชจริงเช่นกัน ในตอนกลางคืนหลังก่อนที่ถึงเช้าลาบวช และหากลาบวชเสร็จแล้วสามารถอยู่รอร่วมดื่มน้ำปานะ หรือรับประทานอาหารเช้าได้ แต่ก่อนออกจากวัดต้องไม่ลืมที่จะไปที่ห้องลงทะเบียนเพื่อแจ้งการลาบวชและขอบัตรประจำตัวประชาชนกลับ การทำบุญกับวัดสามารถทำตอนไหนก็ได้ ตอนมาลงทะเบียน ระหว่างวันที่ปฏิบัติ หรือตอนกลับ ขึ้นอยู่กับความสะดวก ทางวัดไม่ได้กะเกณฑ์จำนวนเงินทำบุญ ขึ้นอยู่กับกำลังและความศรัทธาของผู้มาปฏิบัติธรรม การแต่งกายเนื่องจากทางวัดต้องการให้เป็นระเบียบเดียวกันต่อการปฏิบัติ จึงได้กำหนดการแต่งกายสำหรับชีพราหมณ์ รวบผมให้เรียบร้อย เสื้อสีขาวแขนยาว มีผ้าใบเฉียง ผ้านุ่งยาว ไม่อนุญาตให้ใส่กางเกง สำหรับผู้ชาย ให้ใส่เสื้อและกางเกงสีขาว สำหรับบางคนที่ยังไม่มีเสื้อผ้า บริเวณก่อนเข้าวัด หลังจากเลี้ยวรถเข้ามาแล้วจะมีร้านเล็ก ๆ ขายของชำ ของใช้จำเป็น และเสื้อผ้าชุดสำหรับปฏิบัติธรรม แต่ทางที่ดีควรเตรียมมาล่วงหน้า จะดีกว่า แนะนำว่าควรมีย่ามหรือกระเป๋าผ้าติดตัวสำหรับใส่สัมภาระจำเป็น และควรมีกระบอกน้ำดื่มไว้ประจำตัวสำหรับจิบหรือดื่มระหว่างการปฏิบัติ การรับประทานอาหารทางวัดมีแม่ชีและเจ้าหน้าที่ช่วยจัดเตรียมอาหารเช้าเพียง 1 มื้อในแต่ละวัน ดังนั้นผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมต้องเตรียมตัวรับความพร้อมสำหรับการทานอาหารมื้อเดียว และเป็นอาหารมังสวิรัตน์ โดยฉันเวลาประมาณ 9 โมงเช้า และรับศีลอุโบสถ กรณีวันพระและศีล 8 ในวันอื่น ๆ ทุกวัน หากใครมีความจำเป็นไม่สามารถทานมื้อเดียวได้สามารถเตรียมอาหารสำเร็จรูป มาเองได้แต่ต้องฉันก่อนเวลา 12.00 น.สำหรับการดื่มน้ำปานะ ทางวัดจะมีการจัดกาแฟ โอวัลติน สำหรับดื่ม บางวันในตอนเช้าอาจมี ขนมปัง หรือ ข้าวต้ม ซึ่งเปิดและปิดเป็นเวลา โดยตอนเข้าจะเปิด ปิดประมาณ 06.00-07.00 น. และตอนเย็น จะเปิด-ปิด ประมาณ 16.00-18.00 น. แต่บางคนก็มีการเตรียมเครื่องดื่มหรืออาหารเช้าสำเร็จรูปของตัวเอง ก่อนที่จะถึงเวลาฉันตอนเช้า ที่พักที่พักจะแยกระหว่างชายและหญิง แต่ในห้องพักจะนอนร่วมกัน ทางวัดจะมีเสื่อขนาด 1 คนนอน หมอน และผ้าห่ม และอาสนะสำหรับรองนั่ง ไว้พกเป็นอาสนะประจำตัว ภายในห้องพักจะมีราวไว้แขวนผ้า มีห้องน้ำนอกใช้ร่วมกันหลายห้อง ผู้ปฏิบัติธรรมหลายวัน สามารถซักผ้าที่จำเป็นและตากข้างห้องอาบน้ำได้ แต่หากไม่สะดวกซัก ทางวัดได้เตรียมเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญไว้หน้าห้องน้ำสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวก ดังนั้นเนื่องจากการพักร่วมกันหลายคนจึงไม่ควรนำของมีค่ามาไว้ในห้องพักเนื่องจากเป็นห้องพักรวมหากมีการสูญหาย ทางวัดจะไม่รับผิดชอบกิจกรรมปฏิบัติธรรมและกิจกรรมยามว่างเนื่องจากช่วงที่ไป เป็นช่วงเดือนตุลาคม และมีฝนตกเกือบทุกวัน ดังนั้นภายในถ้ำจะมีน้ำซึม และน้ำหยดลงพื้นตลอดเวลา ทำให้ภายในถ้ำเปียก ชื้น และมีกลิ่น ทางวัดจึงหลีกจากการปฏิบัติในถ้ำ เป็นการปฏิบัติในอาคารทั้งตอนเช้าและเย็น โดยทางวัดจะมีตารางกำหนดการกิจวัตรประจำวันของผู้ปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่ตี 4 ดังนั้นผู้ปฏิบัติต้องตื่นก่อนเวลาเพื่อจัดการกับภาระกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย และควรไปยังห้องปฏิบัติธรรมก่อนเวลา ในตอนเช้าผู้ปฏิบัติจะไปรวมตัวกันที่อาคารศาลาสุธรรมา ชั้น 3 ซึ่งเป็นอาคารเดียวกับที่พักของอุบาสิกา การปฏิบัติจะมีพระอาจารย์มานำสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ และอธิบายหลักการปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจ และสามารถสอบถาม พูดคุยกับพระอาจารย์ หลังเวลาที่ปฏิบัติแต่ละช่วงเสร็จแล้วได้ ระหว่างช่วงเวลาว่างจากการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติสามารถช่วยกิจกรรมวัดตามความเหมาะสม เช่น ปัดกวาดที่พัก เช็ด ถู ขัด ห้องน้ำ กวาดใบไม้ ตามบริเวณ หรือทางเดินภายในวัด หรืออาสาไปช่วยงานแม่ชี ซึ่งมักจะมีงานให้ช่วยเหลือได้ตลอด แต่หากเหนื่อยสำหรับบางคนก็สามารถที่จะนอนหลับพักผ่อนได้ เพราะต้องตื่นตั้งแต่ ตี 3 ครึ่ง เพื่อจัดการภาระกิจส่วนตัวก่อนเริ่มไว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าตอน ตี 4 อย่างที่บอกไปแล้ว ตอนเย็นจะมีปฏิบัติธรรมกันที่อาคาร ศาลาพุทธบารมี 30 ปี ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ ที่มีความสวยงามมี 3 ชั้นและมีดาษฟ้าโล่งกว้าง ด้านบนอากาศดีมาก ปกติจะไม่อนุญาติให้ใครขึ้นไป แต่วันนั้นผู้เขียนขออาสาแม่ชีขึ้นไปทำความสะอาด ในตอนเช้าเลยได้ภาพสวยงามมาฝากกันด้วย การปฏิบัติในตอนเย็นจะแล้วเสร็จประมาณ 9 ทุ่ม หลังจากกราบลาพระแล้วก็เข้าพักในที่พักข้อปฏิบัติอื่น ๆ ระหว่างอยู่วัดวัดมีระเบียบปฏิบัติและกติกาการอยู่ปฏิบัติเป็นแนวทางชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งละเอียด แต่ผู้เขียนจะสรุปพอเห็นภาพคร่าว ๆ ดังนี้งดการพูดคุยและใช้โทรศัพท์ ถ่ายรูปขณะปฏิบัติธรรมไม่พูดโทรศัพท์หรือคุยเสียงดังภายในห้องพัก หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ให้ออกไปโทรข้างนอกเข้าร่วมการปฏิบัติธรรมตามตารางกิจกรรมที่ทางวัดกำหนด เพราะขณะที่ถึงเวลาไหว้พระ สวดมนต์ หรือเจริญภาวนา จะมีแม่ชีเดินมาล็อกกุญแจห้องพัก จะไม่มีใครอยู่ในห้องพัก ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยให้แจ้งกับแม่ชีที่ดูแลห้องพักโดยตรง เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของวัดเป็นป่าและมีถ้ำ จึงยังคงมีลิงอาศัยอยู่ ดังนั้นทางวัดจะไม่อนุญาติให้ผู้มาปฏิบัติธรรมหรือผู้มาเที่ยวในวัดให้อาหารลิง เนื่องจากถ้าให้อาหารเขา เขาจะไม่หาอาหารกินเองที่อยู่ตามธรรมชาติ แต่พอไม่มีคนให้ ลิงก็จะมาฉก หรือขโมยอาหารของคนที่มาอยู่ในวัด และจะทำให้เป็นปัญหามากกว่าการให้อาหารลิง การร่วมทำบุญบำรุงวัดการทำบุญนอกจากผู้มาปฏิบัติธรรมแล้ว บุคคลทั่วไปที่จะมาทำบุญ สามารถร่วมทำบุญกับวัดผ่านทางเจ้าหน้าที่ห้องลงทะเบียน หรือจะนำข้าว หรือวัตถุดิบประกอบการทำอาหารมามอบให้กับโรงทานของวัดก็ได้ นอกจากนี้ทางวัดยังมีบัญชีธนาคารสามารถโอนเงินร่วมทำบุญกับทางวัดได้ ผ่านช่องทางดังนี้บัญชี วัดถ้ำสุมะโน เลขที่ 908-0-84993-6 ธนาคารกรุงไทยขากลับแวะร้านกาแฟโรงคั่วบ้านป่ากาแฟสด หอม ๆ เข้มขนในตอนเช้า จะเข้ากับอากาศที่เริ่มหนาว จับโทรศัพท์มา ปักหมุดใน google พบร้านกาแฟโรงคั่วบ้านป่า ซึ่งเป็นร้านกาแฟสด ร้านเล็ก ๆ เจ้าของร้านคุณกอล์ฟ ซึ่งเป็นสมาชิกคนกล้าคืนถิ่น จังหวัดพัทลุง ร้านทำด้วยไม้ ภายในร้านมีผลิตภัณฑ์ของร้านภายใต้แบรนด์ Bann Pa วางจำหน่าย ซึ่งมีหลายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสินค้าชุมชนมาฝากขาย ตัวอย่างภาพภายในถ้ำช่วงฤดูฝนทางวัดจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติธรรมภายในถ้ำในช่วงฤดูฝน แต่สามารถเข้าเยี่ยมชมภายในถ้ำได้ แต่อากาศจะชื้น อับ และมีกลิ่นขี้ค้างคาว ดังนั้นไม่ค่อยแนะนำให้เข้าไปภายในถ้ำในช่วงนี้นอกจากนี้ทางวัดยังมีเว็บไซต์ สำหรับเป็นช่องทางในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมทางวัด สามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้ที่ ถ้ำสุมะโน.comเครดิตภาพทั้งหมดโดย : ใบไม้เปลี่ยนสี 🗺 แชร์ที่เที่ยวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเที่ยวสายไหนก็มาแวะแชร์กับทรูไอดีคอมมูนิตี้ “เที่ยวไปให้สุด”