กบมิเป็นสูป่ะ น่ะมิเป็นฮูขี้ มะขามป้อมสุขหวาน(ภาษาภูไท) สู้ขวัญข้าว เปิดประตูเหล้าตั้งแต่เช้ารับสิ่งที่ดี เตรียมพิธีสู่ขวัญ ดอกไม้ ต้นคูณ ต้นยอ หมก 3 อย่างวางใส่ถาด พร้อมน้ำข้าวสำหรับจ้ำ ตกแต่งเหล้าข้าวด้วยดอกไม้ใบคูณ ใบยอ แก่นไม้หอมทำน้ำมนต์ ห้ามผ่านพ้นเกินสิบนาฬิกาวันเวลาดี ชีวิตหนึ่งก่อเกิดมาจากความรัก เจริญเติบโตได้เพราะนมแม่ แต่หลังจากนั้นชีวิตดำรงอยู่ได้เพราะการทานข้าว ข้าวจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนทุกคน พอเด็กอายุได้ 6 เดือน แต่คนสมัยก่อนนั้นจะเริ่มป้อนข้าวตั้งแต่เด็กและแม่อยู่ไฟ เพราะในสมัยก่อนไม่เหมือนในสมัยนี้ ชีวิตหนึ่งชีวิตจึงต้องมีความเกี่ยวข้องกับข้าว ในบางครั้งการทานข้าว เมื่อทานข้าวเสร็จบางคนจะประนมมือขึ้นเพื่อไหว้ข้าว เพื่อเป็นการขอบคุณ 🌾จากหนึ่งเม็ด มีการกระจายขยายพันธุ์จนกลายเป็นรวงจำนวนมาก เหมือนการเจริญเติบโตของคนเรา ชีวิตเต็มไปด้วยความสุขสิ่งรอบตัวของเราก็จะดูสวยงามไปด้วย ความเคารพและรักในสิ่งที่ให้คุณค่าและประโยชน์กับเราเป็นสิ่งที่ดี เราอาจจะเคยได้ยินหรือได้เห็นกับตัวเองหรือจากคนเล่าต่อๆ กันมา เป็นตำนาน เหมือนในเรื่องที่มีการเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อมีการทำนา คนอีสานเขาจะเรียกกันว่า แฮกนา นั่นคือการลงมือทำนาวันแรก ต่างพื้นที่ก็มีความเชื่อที่หลากหลาย หากว่าจะทำนาจะต้องเริ่มในวันจันทร์บ้าง หรือวันอื่นๆ จะมีการบอกและทำเป็นขนบเชื่อในหมู่บ้าน สิ่งต่างๆที่เป็นการเชื่อในสิ่งลี้ลับ บางอย่างมันคือกำลังใจ ที่จะทำให้เกษตรกรหรือชาวนามีกำลังใจในการทำงานหนักในแต่ละปี ครั้งนี้ผู้เขียนจะเล่าถึงพิธีสู่ขวัญข้าว ของชาวภูไทที่เกิดมา และจำความได้ ก็เคยเห็นพิธีกรรมนี้ จากยายจนยายย้ายไปสู่โลกใหม่ สิ่งต่างๆ จะถูกถ่ายทอดต่อคนรุ่นหลัง ซึ่งบางคนอาจจะมีการพึ่งตำราบ้าง จดจำโดยการทำให้ดูบ้าง ซึ่งนั้นคือการแสดงความรัก ความพยายามจะทำตามบรรพบุรุษ แม้ว่านานไปจะเริ่มหายไปจากสังคม แต่ในชุมชนจะยังคงอยู่เพราะความเชื่อเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดโดยการปฏิบัติให้ดู เช้าของวันสู่ขวัญข้าว ซึ่งถ้านับตามปฏิทิน วันดี “กบมิเป็นสูป่ะ น่ะมิเป็นฮูขี้ มะขามป้อมสุขหวาน” วันที่ดี ดูตั้งแต่คำว่ามะขามป้อมสุขหวาน ตามธรรมชาติแล้วมะขามป้อมจะมีรสชาติขมฝาดๆ 🐸ปกติแล้วจะมีปากร้องประสานเสียง วันที่ทำบุญนี้เป็นวันที่กบไม่มีปาก วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งทางภาคอีสาน เราถือว่าเป็นวันที่ตรงกับบุญกุ่มข้าว หรือบุญหุ้มข้าว (ภาษาภูไท) ถ้าในภาษาอีสาน จะเรียกว่าบุญคูนลาน ถ้าจะว่าไปแล้ววันนี้คือวันสำคัญของชาวนาทุกคน ที่มีอาชีพหลักคือการทำนา เพราะนอกจากจะสู่ขวัญข้าวแล้ว เจ้าของนาจะนำไปนา ไปสู่ขวัญให้ควายให้วัว และให้เจ้านาด้วยเสมอ กิจกรรมในบ้าน ในแต่ละครัวเรือนจะต้องมียุ้งข้าวเพื่อใช้ในการเก็บผลผลิตข้าวในแต่ละปี เพื่อที่จะได้เก็บไว้นาน พ้นจากความชื้น มด แมลงที่มาเกาะกินทำร้ายเม็ดข้าว ซึ่งก็รวมไปถึงปลวกตัวเล็ก และปัญหาหนักสุดน่าจะเป็นเจ้าหนูที่เก่งในการแทะเม็ดข้าวเป็นที่สุด ซึ่งวันนี้เจ้าของยุ้งข้าวจะต้องเปิดประตูยุ้งข้าวตั้งแต่เช้าเพื่อรับสิ่งที่ดี จากนั้นจะนำดอกไม้สีสันสดใสมาประดับบ้านให้แม่โพสพ สิ่งที่นำมาประดับตกแต่งยุ้งข้าว ที่ขาดไม่ได้ คือใบต้นคูน ซึ่งมีความหมายถึงความค้ำคูน ต่อมาคือใบยอ ใบต้นลูกยอ คือใบยกยอให้พบแต่สิ่งที่ดี ในส่วนของดอกไม้ จะนิยมดอกไม้ที่มีมีสดใจ เพราะยายเคยบอกว่าเจ้าแม่โพสพชอบดอกไม้สีแดง บางคนจึงชอบนำดอกเฟื่องฟ้า สีชมพูบ้างสีแดงบ้าง แต่ถ้าหากไม่ได้ สามารถใช้ดอกสีสดใสอื่น อาจจะเป็นสีเหลืองสีส้มสามารถนำมาประดับได้ ใส่ด้านหน้ายุ้งข้าว ข้างประตู นอกจากจะเป็นดอกไม้ แล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือผ้าหลากสี จะเน้นไปทางสีชมพูและสีแดงเป็นหลัก ผ้าถุงบ้าง ผ้าสไบ พาดไว้สองสามตัวเป็นเครื่องนุ่งให้แม่โพสพ ในวันทำบุญใหญ่ให้ยุ้งข้าว สำหรับคนที่ไม่มียุ้งข้าว ทำได้เช่นเดียวกัน นำดอกไม้ใบคูณ ใบยอไปวางไว้ที่ถุงข้าวหรือที่ที่เรากองข้าวไว้ และทำพิธีสู่ขวัญข้าวได้เหมือนกันกับคนที่มียุ้งข้าว ซึ่งพิธีจะเริ่มในเวลาเช้าตรู่ อาจจะเป็นหลังจากทำบุญตักบาตร ไม่เกิน 10 นาฬิกา ⏰ หลังจากที่ประดับด้วยดอกไม้ผ้าแพร่ สีสันสดใสสวยสะดุดตาแล้ว เข้าสู่พิธีการสู่ขวัญข้าว ถ้าเป็นคนเฒ่าคนแก่ จะมีบทสวดหรือคำพูดที่หลากหลาย แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่สามารถกล่าวได้ ทำได้เช่นกันโดยการนึกถึงสิ่งที่ดี อาหารที่จะนำมา (จ้ำ) ให้กับแม่โพสพ จะประกอบไปด้วย อาหารสามอย่าง ซึ่งจะเป็นห่อหมก ต้องเป็นสามอย่าง มีหมกไก่ หมกเขียด หมกปลา และข้าวต้มมัดสามารถใส่ได้เลย ในการ ในส่วนของน้ำนั้นจะไม่ค่อยเป็นน้ำเปล่า ถ้าหากคนที่มีอายุหน่อย จะทำน้ำ โดยการฝนเองให้กลิ่นหอมแล้ววางไว้ แก่นไม้จันทร์หอม ใช้ฝนใส่ในน้ำเพื่อให้ความหอม ความเชื่อของคนโบราณนั้นไม้ชนิดนี้ให้ความหอม ใช้ฝนใส่ในน้ำหรือนำมาสกัดเป็นยาสมุนไพร รักษาได้หลากหลาย ด้วยกลิ่นที่หอมนั้นทำให้เวลาสูดดมรู้สึกผ่อนคลาย สรรพคุณแรกของแก่นจันทร์หอมคือ ช่วยคลายความเครียดผ่อนคลายจิตใจให้สงบ ในอินเดียโบราณก่อนนั้นใช้บำบัดสมาธิ ด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่ถ้าเป็นในไทย เราจะเห็นผลิตภัณฑ์บางอย่างจะนำไม้จันทร์หอมมาช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวสำหรับคนที่ผิวแห้ง ในทางภาคอีสานก็ให้ความสำคัญกับไม้จันทร์หอมเช่นกัน เพราะได้อพยพมาจากประเทศลาว ได้นำไม้จันทร์หอมนำฝนผสมใส่ในน้ำ กลายเป็นน้ำหอมถวายแม่โพสพ วิธีทำใช้หลอดขัดถูให้ไม้หอมเกิดเป็นผงแล้วนำไม้จันทร์ทางด้านปลายเล็กๆ จุ่มลงไปในแก้ว จนน้ำมีกลิ่นหอมตามต้องการ แต่ถ้าหากเราไม่มีแก่นไม้จันทร์หอมละ ทำได้ไหม คำตอบคือได้เราอาจจะใช้น้ำเปล่าใส่แก้ว หรือน้ำขวดเล็กๆมาวางได้เช่นกัน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องมี และไม่ควรขาด นั่นคือ “หมากพลู ยาสูบ” จีบหมาก จีบพลู มวลยาสูบ หรือที่ภาษาภูไทเรียกว่า “หมากจีบ ขุยยา” สิ่งที่จะต้องมีในพิธีกรรมหลายอย่าง ในการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีการทำเองโดยผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้าน ส่วนของยาสูบนั้นใช้ใบตองห่อด้วยยาเส้น การทำเช่นนี้เป็นการระลึกถึงคนโบราณ ปู่ตาย่าเฒ่า ที่ในสมัยก่อนนั้นจะต้องมี เพราะการเขี้ยวหมากคนสมัยก่อนไม่ว่าจะอายุน้อยหรืออายุมาก จะมีการเคี้ยวหมาก ช่วยในเรื่องของการดูแลฟัน ยิ่งฟันสีดำยิ่งสวย แต่ในสมัยใหม่อาจจะเลือนหายไป แต่การไหว้บรรพบุรุษเป็นสิ่งที่ละเลยหรือลืมไปไม่ได้ เครื่องทำหมากจีบ ซึ่งยายจะมีตะกร้าเล็กๆที่มีสิ่งของทุกอย่างครบถ้วน หมากเล็ก จะต้องนำมาผ่าและฉีกส่วนที่จำเป็นนำมาห่อ ถ้าถามว่าหมากในถุงนี้สามารถที่จะนำไปเคี้ยวได้ไหม สิ่งนี้สามารถนำมาเคี้ยวหมากได้เลย ปูนขาว ที่เตรียมไว้สำหรับจีบหมากจีบพลู ทำเป็นหมากจีบ ถ้าในการเคี้ยวหมากนั้นจะใส่เพื่อฆ่าเชื้อโรค เป็นสิ่งที่เวลาเคี้ยวไปจะทำปฏิกิริยาผสมหมากกับพลูให้อร่อยยิ่งขึ้น ลดรสชาติฝาด ทำให้ผู้ที่เคี้ยวหมากมีความสุขในการเคี้ยว ถ้าหากถามว่ากล้าเคี้ยวหมากสักครั้งไหมในชีวิต คำตอบก็เห็นจะเป็นคำตอบเดิมที่ตอบยายเมื่อครั้งเริ่มจำความได้ ว่าไม่ขอลอง การเคี้ยวหมากในสมัยนั้นจะเป็นเหมือนยาเสพติดในชีวิตประจำวัน ถ้าวันไหนไม่ได้เคี้ยวหมากจะเหมือนชีวิตขาดอะไรสักอย่าง ปากก็จะแห้งทานอาหารไม่อร่อย บางรายถึงกับล้มป่วย จะเป็นเหมือนกับคนที่เคยทานกาแฟ ที่วันไหนไม่ได้ดื่มกาแฟจะปวดหัวง่วงนอนไม่สดชื่น การเคี้ยวหมากถ้าวันไหนไม่ได้เคี้ยวอาการก็จะคล้ายกัน อย่างนั้นถ้าใครที่ยังไม่เคยลอง อย่าทดลองจะดีกว่า เมื่อเตรียมทุกอย่างเรียบร้อย ในขั้นตอนต่อไปคือพิธีไหว้ จะต้องเปิดประตูยุ้งข้าว และยกขันโตกขึ้นไปวางไว้บนข้าวเปิดกระติบข้าว ซึ่งเป็นข้าวเหนียว จุดเทียนบูชา กล่าวคำสู่ขวัญข้าว อาจจะเปิดตำรา หรือจำพูดในภาษาของตน จากนั้นเริ่มนำปั้นข้าวเหนียว ไปจ้ำหมกต่างๆ ทั้งสามและวางไว้บนข้าว หรือสิ่งที่วางไว้อาจจะเป็นใบตอง จาน ถือเป็นอันเสร็จพิธีสู่ขวัญข้าว หลังจากที่สู่ขวัญข้าวเรียบร้อย ก็จะนำถาดเครื่องไหว้ลงมา ไหว้ด้านล่าง และเตรียมนำไปนาเพื่อทำพิธีสู่ขวัญควายวัวที่นาเพราะควายคือคนที่ช่วยทำนา แม้ในปัจจุบันเราจะหันกลับมาใช้ควาย การทำพิธีทุกอย่างจะต้องทำให้เสร็จก่อนเวลา 10 นาฬิกา เพราะถ้าหากสายกว่านี้จะเป็นเวลาไม่ดี สิ่งต่อมาที่จะมีการทำหลังจากการสู่ขวัญข้าว คือการนำข้าวไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีสู่ขวัญข้าวรวมอีกรอบ ซึ่งที่บ้านเรียกว่า บุญกุ้มข้าว บุญคูณลาน ถ้าหากคนที่ไม่ต้องการรวมข้าว สามารถนำปัจจัยทำบุญได้เช่นกัน ในภาพคือกองข้าวใหญ่ประจำหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากที่ทำพิธีสู่ขวัญข้าวยุ้งข้าวของตนแล้วก็จะตักข้าวเปลือกใส่กระสอบครึ่งบ้างเต็มบ้างตามกำลังศรัทธา คนเราควรมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าเคยได้ยินคำที่ว่าการโน้มสิ่งที่สูงสุดลงไปสิ่งที่ต่ำสุด มันคือความเคารพ ยังคงเป็นเรื่องจริง เพราะคนเราจะสูงแค่ไหน สุดท้ายแล้วชีวิตก็ต้องกลับไปอยู่ในจุดเดิม “สูงสุดสู่สามัญ” การเคารพต่อผู้มีพระคุณจึงเป็นสิ่งทีดีและสวยงาม เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ อย่ากลัวการแสดงความรักเคารพต่อสิ่งที่มีบุญคุณต่อเรา แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าอย่างสุนัขตัวหนึ่งถ้าวันไหนเขาช่วยเรา เราก็มามารถที่จะไหว้ขอบคุณสุนัขตัวนั้นได้เช่นกัน เพราะเขาคือสิ่งมีชีวิตที่เป็นเพื่อนร่วมโลกเรา ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นของผู้เขียน (อุ้งเท้าแมว) เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !