วันพืชมงคล หรือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือนของประเทศไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม (เดือน 6 ตามโหราศาสตร์ไทย) ของทุกๆ ปี วันพืชมงคลปี 2566 ตรงกับวันพุธ ที่ 17 พฤษภาคม 2566 เหตุที่เป็นช่วงนี้เนื่องจากเป็นช่วงของการเริ่มฤดูการเพาะปลูก ฤกษ์ยามของวันที่ประกอบพิธีนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปีประกอบไปด้วย ขึ้นแรม ฤกษ์ยาม ต้องเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ ทำให้ในแต่ละปีนั้นวันพืชมงคลจึงมีวันที่ไม่ตรงกัน โดยในวันพืชมงคลจะมี 2 พิธีที่ทำร่วมกันได้แก่ พิธีพืชมงคล และ พิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีเหล่านี้จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ตำนานวันพืชมงคล มีความเป็นมาอย่างไร มาติดตามกันได้เลยค่ะ
ตำนานวันพืชมงคล และคำทำนายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง
แรกเริ่มเดิมทีนั้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย นับเป็นพระราชพิธีที่มีความเก่าแก่มาก อีกทั้งยังมีความสำคัญสืบเนื่องด้วยเมืองไทยนั้นเป็นเมืองแห่งการเพาะปลูก และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในด้านความสิริมงคลของเกษตรกร ซึ่งรายละเอียดการประกอบพิธีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และได้มีการหยุดประกอบพิธีไปเมื่อปี พ.ศ. 2480 เนื่องจากสถานการณ์ในบ้านเมืองในตอนนั้น และได้กลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในปี พ.ศ. 2503
พระยาแรกนา และเทพีทั้งสี่คือใคร
หลังจากที่ได้ฟื้นฟูอีกครั้งนั้นผู้ที่เป็นพระยาแรกนาในพิธีนั้นได้แก่ อธิบดีกรมการข้าว เทพีทั้งสี่จะคัดเลือกมาจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตร และสหกรณ์
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งโดยพระยาแรกนานั้นได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีทั้งสี่จะพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงที่โสดในสังกัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์
พืชที่ใช้ในการประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พืชที่ใช้ในการประกอบพิธีจะมีทั้งหมด 40 ชนิดเรียกว่าว่า “บุพพัณณปรัณณชาติ” เนื่องจากประกอบด้วยข้าว ที่ในภาษาบาลีนั้นเรียกว่า บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ และพืชประเภทธัญญพืชที่ในภาษาบาลี เรียกว่า อปรัณณ หรือ อปรัณชาติ เมื่อนำคำทั้งสองอย่างมารวมกันจึงเรียกว่า “บุพพัณณปรัณณชาติ”
ของที่ใช้ในการเสี่ยงทาย
ของที่ใช้ในการเสี่ยงทายประกอบด้วย ผ้านุ่งและของกิน 7 สิ่ง
ผ้านุ่งที่ใช้ในการตั้งสัตยาอธิฐานโดยพระยาแรกนานั้นเป็นผ้าลาย 3 ผืนแบ่งเป็นความยาวและคำทำนายดังนี้
- หยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
- หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในในนาจะได้ผลบริบูรณ์และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
- หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้างไม่ได้ผลเต็มที่
ส่วนของกิน 7 สิ่งนั้นเสี่ยงทายโดยการกินของพระโค ประกอบไปด้วยคำทำนายดังนี้
- ถ้าพระโคกินข้าว หรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี
- ถ้าพระโคกินถั่ว หรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
- ถ้าพระโคกินน้ำ หรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
- ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
โดยปัจจุบันพระราชพิธีพืชมงคลก็ยังคงมีอยู่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกร และเพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณ๊อันเก่าแก่สืบไป และคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์ค่ะ
บทความเกี่ยวกับวันพืชมงคลที่คุณอาจสนใจ
- คำทำนาย เซียมซีศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เสาหลักเมืองศักดิ์สิทธิ์ กรุงเทพมหานคร
- วันพืชมงคล 13 พฤษภาคม 2566 นั่งรถ-เรือฟรี! ร่วมงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
- 13 พฤษภาคม วันพืชมงคล 2566 ขึ้นทางด่วนฟรี 3 สายทาง
- วันหยุดเดือน พฤษภาคม 2566 วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา จอดรถฟรี 6 วัน ที่ไหน? เช็ก!
|
| |||
|
|