สำหรับลูกหลานเชื้อสายจีนคงมี ตี่จู้เอี๊ยะ กันแทบทุกบ้าน สำหรับใครที่กำลังมองหา เราก็มี ประวัติ วิธีตั้งตี่จู้เอี๊ยะ พร้อมวิธีไหว้บูชาที่ถูกต้องมาฝากกันค่ะ จะต้องตั้งตรงไหน ใช้ของไหว้อะไรบ้าง ลองนำไปทำตามกันดู เพื่อความเป็นสิริมงคลของคุณและทุกคนในครอบครัวนะคะ เพราะชาวจีนรวมถึงคนไทยเชื้อสายจีนต่างก็เชื่อกันว่า การบูชาตี่จู้เอี๊ยะ ก็เท่ากับบูชาเทพประจำบ้าน และท่านก็จะช่วยปกป้องคุ้มครองคนในบ้านให้ปลอดภัย และช่วยเสริมดวงชะตาให้คนในบ้านสมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยโชคลาภ การงาน การเงิน และสุขภาพนั่นเองค่ะ
ตี่จู้เอี๊ยะ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ตี่จู้เอี๊ยะ หรือ ตี่จู้เอียะ มีหลายชื่อเรียก เช่น ตี่จู๋เอี้ย, ตี่จู๋เอี่ยกง, ฮกเต็กเจี้ยซิ้ง, ฮกเต็กซื้อ, โฮ่วโทว, โท่วตี่เอี้ย, โท่วตี่กง เป็นต้น
ประวัติของ ตี่จู้เอี๊ยะ ตามตำนานนั้นกล่าวไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์จิว (ก่อน พ.ศ. 578 –พ.ศ.288) มีชายคนหนึ่งชื่อว่า เตียเม่งเต็ก มีหน้าที่เป็นคนรับใช้ในตระกูลขุนนางผู้มั่งคั่ง จนกระทั่งวันหนึ่งในฤดูหนาว ขุนนางท่านนั้นได้เดินทางไปรับราชการในวังหลวง และสั่งให้นายเตียเม่งเต็กนำบุตรสาวของขุนนางเดินทางตามมา แต่เคราะห์ร้ายที่ระหว่างทางเกิดพายุหิมะโหมกระหน่ำ นายเตียเม่งเต็กเห็นว่าเด็กยังเล็ก ร่างกายคงไม่สามารถทนอากาศหนาว อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถึงถอดเสื้อคลุมของตนคลุมให้แทน ส่วนตัวเองยอมผจญกับความหนาว แม้ว่าสุดท้ายจะมีคนตามมาช่วย จนบุตรสาวขุนนางปลอดภัย แต่ร่างกายนายเตียเม่งเต็กไม่สามารถทนความหนาวได้จึงสิ้นใจไปก่อน แล้วก็บังเกิดปาฏิหาริย์ขึ้น เมื่อท้องฟ้าปรากฏตัวอักษรจีน 8 ตัวขึ้นมา อ่านได้ว่า “น่ำ เทียง มึ้ง ไต่ เซียง ฮก เต็ก ซิ้ง” แปลได้ความหมายว่า “ฮกเต็กซิ้งเทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งประตูสวรรค์ด้านทิศใต้” สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก
บุตรสาวขุนนางรู้สึกซาบซึ้งและประทับใจในความซื่อสัตย์และเสียสละของนายเตียเม่งเต็กอย่างมาก เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจึงสร้างศาลเจ้าเตียเม่งเต็กเป็นการตอบแทนและระลึกถึงบุญคุณที่ได้ช่วยชีวิตนางเอาไว้ และตั้งชื่อศาลเจ้าว่า "ศาลเจ้าฮกเต็ก" ซึ่งต่อมามีผู้ศรัทธามาก เมื่อบูชาแล้วก็เพาะปลูกได้พิชผลงอกงามดี จนเรื่องไปถึงพระเนตรพระกรรณของฮ่องเต้ พระองค์จึงพระราชทานนามใหม่ว่า "ถู่ที้กง" หรือ "ถู่ตี้กง" แปลว่าเทพเจ้าแห่งผืนดินทั้งหลาย ชาวจีนจึงยึดถือว่าท่านเป็นเทพเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ไขข้อข้องใจ...ทำไมถึงตั้งตี่จู้เอี๊ยะไว้บนพื้น
หลายคนคงเคยสงสัยว่าทำไมถึงตั้งตี่จู้เอี๊ยะไว้บนพื้นบ้าน ไม่ตั้งไว้ที่สูงเหมือนศาลอื่นๆ ที่เคยเห็นมา เรื่องนี้มีที่มาจากตำนานหนึ่งที่เล่ากันว่า ในสมัยพระเจ้าจูง่วงเจียฮ่องเต้ พระองค์ได้เสด็จประพาสไปตรวจราชการและทรงแวะที่โรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง แต่โรงเตี๊ยมนั้นมีแขกแน่นขนัดไม่มีโต๊ะว่าง เหลือแต่โต๊ะที่มีป้ายวางไว้ ฮ่องเต้จึงทรงหยิบป้ายนั้นออกวางบนพื้นชั่วคราว แล้วใช้โต๊ะนั้นแทน แท้จริงแล้วป้ายนั้นก็คือป้ายบูชาตี่จู้เอี๊ยะนั่นเอง
ในเวลาต่อมา เจ้าของร้านนำป้ายบูชากลับไปวางบนโต๊ะดังเดิม แต่องค์เทพกลับไปเข้าฝันเขาว่า "องค์เหนือหัวทรงรับสั่งไม่ให้ข้านั่งบนที่สูง" ผู้คนจึงต่างนิยมตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะไว้บนพื้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ประวัติความเป็นมาของตี่จู้เอี๊ยะ ในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย เริ่มมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษคนจีนกลุ่มรุ่นแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ในยุคนั้นยังไม่มีศาลอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ แต่เป็นกระดาษแดงที่เขียนด้วยตัวอักษรสีดำเป็นคำว่า "ตีจู่ซิ่งอุ่ย" แปลว่า ที่สถิตของเทพเจ้า เพื่อเป็นที่ตั้งและตัวแทนของเทพเจ้าที่คุ้มครองทุกคนในบ้าน และเรียกชื่อว่า ตี่จู้เอี๊ยะ (地主爷) ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายเดิมกับ "ถู่ที้กง" เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบของเทพเจ้าคุ้มครองบ้านหรือตี่จู้เอี๊ยะก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากกระดาษก็กลายมาเป็นกระจกพิมพ์สี จนกระทั่งกลายมาเป็นศาลตี่จู้เอี๊ยะในปัจจุบัน
บางตำนานก็เล่าว่าชาวจีนที่นับถือศาลฮกเต็ก ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ก็จะนำวัสดุบนดินของที่นั้นๆ มาสร้างเป็นศาลเล็กๆ เช่น ก้อนหิน แล้วจุดเทียน 1 คู่ ธูป 5 ดอก เพื่อเป็นการบอกกล่าวต่อเทพเจ้าว่า จะขอทำมาหากินบนผืนแผ่นดินนี้ ขอให้พืชพรรณงอกงามดีมีความเจริญรุ่งเรือง และเมื่อมีความรุ่งเรืองสมความปรารถนาแล้ว ก็จะปรับปรุงศาลให้ดีขึ้น สวยงามขึ้นตามสมควรแก่ฐานะ
โดยหากสร้างศาลเจ้าในบ้าน จะเรียกกันว่า “ตี่จู่เอี๊ยะ” แต่หากสร้างเป็นศาลเจ้าใหญ่ในชุมชนเพื่อคุ้มครองผู้คนในชุมชนนั้นๆ ก็จะเรียกว่า "ถู่ที้กง" หรือ "ถู่ตี้กง"
ไม่ว่าจะเป็นตามความเชื่อใด ก็กล่าวได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับการบูชาเจ้าที่เจ้าทางตามความเชื่อของไทย คือเพื่อแสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสดงความกตัญญูต่อผืนดินที่อยู่อาศัยและทำมาหากินนั่นเอง
วิธีเลือกศาลตี่จู้เอี๊ยะ
ปัจจุบันมีศาลตี่จู้เอี๊ยะให้เลือกมากมายหลายแบบ ส่วนใหญ่นิยมวัสดุประเภทไม้ ปูน และหินอ่อน ขนาดศาล 10 นิ้วขึ้นไปสำหรับบ้านเรือนทั่วไป หรือขนาด 24 นิ้วขึ้นไปสำหรับร้านค้าและบริษัทต่างๆ เราสามารถจะเลือกรูปแบบที่เหมาะกับพื้นที่ตั้งศาล และสไตล์การตกแต่งบ้านได้ตามความชอบ แต่ก็ควรมีองค์ประกอบที่เป็นมงคลดังต่อไปนี้
- อักษรมงคล ประกอบไปด้วยตัวอักษรจีนที่สื่อถึงตี่จู้เอี๊ยะ และประโยคที่เป็นมงคล
ด้านซ้ายคือ“ซี่ ฮึง กิม งิ้ง จิง" แปลว่า "ขอให้เงินทองไหลมาเทมาจากทั่วทั้ง 4 ทิศ"
ด้านขวาคือ "โหงว โหล่ว ไช้ ป๋อ ไล้” แปลว่า "ครบบริบูรณ์ด้วยธาตุทั้ง 5 โชคลาภเงินทองมาหา" - ฐานมงคล มีหลายแบบตามเรื่องที่อยากเน้น เช่น ฐานมังกร ช่วยเพิ่มบารมีในการปกครองคน และขับไล่สิ่งชั่วร้าย ฐานโหงวก้วย (ผลไม้หรือเมล็ดผลไม้ 5 ชนิด) ช่วยเสริมความอุดมสมบูรณ์เหลือกินเหลือใช้ และฐานอักษรมงคล ช่วยเสริมมงคลโชคลาภ และทรัพย์สมบัติ เป็นต้น
- สัตว์มงคล ได้แก่
- หลังคาหงส์ หมายถึง ความสง่างาม สุภาพอ่อนหวาน และมีเกียรติ ความสง่างาม อ่อนหวาน สุภาพเป็นผู้ดี
- ประตูชัยปลาหลีฮื้อ หมายถึง การประสบความสำเร็จ มีชัยชนะ
- หลังคาปลาหลีฮื้อ หมายถึง ความมั่งคั่ง มั่นคง และความอุดมสมบูรณ์
- กิเลน หมายถึง การเปลี่ยนเรื่องร้ายกลายเป็นดี และกิเลนจะช่วยเหลือหากคนในบ้านเป็นคนดี มีจิตใจเมตตา
- โคมไฟ หลอดไฟ สื่อถึงความสว่างไสว รุ่งโรจน์ ควรดูแลให้สว่างอยู่เสมอ
- กระถางธูป นิยมใส่ธัญพืช 5 ชนิด (เจ๋งจี้) คือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่วแดง ถั่วเขียว และเมล็ดสาคู สื่อถึงความงอกงามและอุดมสมบูรณ์ และบางคนก็ใส่ลำใยแห้ง (ตัวแทนยศฐาบรรดาศักดิ์) และแป้งหมาก (ตัวแทนความเฟื่องฟู) และทรัพย์มงคล เช่น แผ่นเงิน แผ่นทอง เพชรนิลจินดาต่างๆ เป็นต้น จากนั้นจึงโรยขี้เถ้าด้านบนพร้อมปักกิมฮวย 1 คู่ ส่วนด้านหน้ากระถางประดับด้วยผ้าแพรแดงหรือ อั่งติ้ว เสริมโชคลาภ
การตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะ
การตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะนั้นมีหลักการคล้ายการตั้งศาลพระภูมิแบบไทย ตรงที่จะต้องตั้งให้ติดกับพื้นเพื่อรับและเชื่อมโยงพลังจากธาตุดิน และหลักสำคัญมากๆ อีกข้อก็คือ "ทิศในการตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะ" ซึ่งมีหลักการดูทิศดังต่อไปนี้
ทิศในการตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะ
- ทิศด้านหน้าของตี่จู้เอี๊ยะ ต้องเป็นบริเวณโล่ง เหมาะสำหรับเปิดรับโชคลาภต่างๆ และมีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มีของเกะกะบดบังหน้าศาล
- ทิศด้านหลังของตี่จู้เอี๊ยะ ไม่ควรติดกับประตู ห้องน้ำ ห้องครัว เตาไฟ และบันได
- ทิศด้านบนของตี่จู้เอี๊ยะ ไม่ควรมีคานบ้านหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อยู่เหนือศาลตี่จู้เอี๊ยะ
- ทิศด้านล่างหรือด้านใต้ของตี่จู้เอี๊ยะ ติดกับพื้นบ้านโดยไม่ต้องมีฐานรองเพิ่มเติม หรือสามารถหาของมีค่าที่เป็นธาตุดิน เช่น เพชรนิลจินดา เงิน ทอง ต่างๆ มาใส่ไว้ใต้ศาลเพื่อเสริมพลังโชคลาภได้เช่นกัน
ของไหว้ในการตั้งศาลตี่จู่เอี๊ยะ
- อาหารคาวคือ ซาแซ ประกอบด้วย ไก่ต้ม 1 ตัว หมูบะแซต้ม (หมูชิ้นติดหนัง) 1 ชิ้น และปลานึ่ง 1 ตัว
- ผลไม้มงคล 5 อย่าง
- ขนมจันอับ
- ขนมสาคูต้มใส่สีแดง หรือ ขนมอี๊
- น้ำชา 5 ถ้วย
- ธูปมังกร 5 ดอก ธูปธรรมดา 2 ดอก
- เทียนแดง 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
- ดอกไม้ หรือไม้มงคล เช่น ไผ่กวนอิม
- กิ่งพร้อมใบของต้นทับทิม ปักในแก้วที่ใส่น้ำสะอาด ตั้งไว้ด้านหน้า
- กระถางธูปที่ใส่ของมงคล ขี้เถ้า และปักกิมฮวย แล้ว พร้อมติดอั่งติ้วไว้ด้านหน้ากระถาง
ขั้นตอนการไหว้เพื่อตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะ
- ผู้ร่วมพิธีอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด พูดในสิ่งดีๆ งดพูดคำหยาบและคำที่ไม่เป็นมงคล
- จุดเทียนแดง ปักไว้นอกศาลตี่จู้เอี๊ยะ
- จุดธูปมังกร 5 ดอก ธูปธรรมดา 2 ดอก เดินออกไปนอกประตูบ้าน หันหน้าออกจากตัวบ้าน แล้วกล่าวว่า
"วันนี้วันที่ (วัน เดือน ปี พ.ศ.) ข้าพเจ้า (ชื่อ นามสกุล) เป็นเจ้าของ (บ้านเลขที่) ขออัญเชิญเทพยดาฟ้าดินมาเป็นสักขีพยาน และเป็นประธานในการทำพิธีตั้งตี่จู้เอี๊ยะ ขอให้องค์เทพยดาฟ้าดิน ช่วยนำองค์ตี่จู้เอี๊ยะที่ศักดิ์สิทธิ์และมีบารมีสูงส่งมาสถิตประทับในเคหสถานที่ได้จัดเตรียมไว้นี้ เพื่อปกปักรักษาคุ้มครองเจ้าของบ้านและสมาชิกทุกคนในบ้าน ให้มีสุขภาพพลามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ มั่งคั่ง ร่ำรวยและโชคดีตลอดไป” - ปักธูปธรรมดาที่หมึ่งซิ้งตรงประตูทั้งสองด้าน ด้านละ 1 ดอก จากนั้นนำธูปมังกรเดินกลับเข้าบ้าน มานั่งตรงหน้าศาลตี่จู้เอี๊ยะ แล้วกล่าวว่า
"ข้าพเจ้าขออัญเชิญตี่จู้เอี๊ยะมาสถิตยังศาลที่ข้าพเจ้าและครอบครัวได้ถวายนี้ และโปรดรับเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ ได้แก่....(รายการของไหว้ที่เตรียมไว้) ขอให้องค์ตี่จู้เอี๊ยะโปรดปกปักษ์รักษาคุ้มครองทุกคนในครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข มีสุขภาพแข็งแรง กิจการเจริญรุ่งเรือง ฯลฯ (ตามแต่ท่านอยากอธิษฐานในสิ่งดีๆ และอยู่ในศีลธรรม)" - ปักธูปทีละดอก พร้อมกล่าวดังนี้
- ปักดอกที่ 1 กล่าวว่า ขอให้ทุกคนในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขแคล้วคลาดปลอดภัย
- ปักดอกที่ 2 กล่าวว่า ขอให้ทุกคนในครอบครัวมีโชคลาภ
- ปักดอกที่ 3 กล่าวว่า ขอให้ทุกคนในครอบครัว ไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาท
- ปักดอกที่ 4 กล่าวว่า ขอให้ทุกคนในครอบครัว มีผู้อุปถัมภ์ ทั้ง 4 ทิศ
- ปักดอกที่ 5 กล่าวว่า ขอให้ทุกคนในครอบครัว คิดสิ่งใดสมความปรารถนาทุกประการ - จากนั้นจึงให้ทุกคนในบ้านจุดธูป 5 ดอกไหว้ตี่จู้เอี๊ยะ เพื่อแนะนำตนเองและอธิษฐานขอพร
- เมื่อเทียนไหม้เกินครึ่งแล้วก็ดับเทียน พร้อมกับอธิษฐานว่า "ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัวอุมดสมบูรณ์ด้วยเงินทองและโชคลาภ มีเหลือกิน เหลือใช้ เหลือเก็บ"
- นำเทียนมาปักในกระถางธูป และนำกิ่งทับทิมจุ่มน้ำพรมให้ทั่วบริเวณที่จะเชิญตี่จู้เอี๊ยะประทับ จากนั้นจึงนำไปพรมทั่วบ้าน จากชั้นบนลงมาชั้นล่าง เป็นอันเสร็จพิธี
- เมื่อธูปหมดดอกจึงลาของไหว้
ข้อควรรู้ ในการตั้งศาลตี่จู้เอี๊ยะ
- ควรสำรวมระวังทั้งกาย วาจา ใจ มีสติ สมาธิแน่วแน่ในระหว่างทำพิธี
- หากไม่มั่นใจ ควรให้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้เป็นผู้ทำพิธี เพื่อให้แน่ใจได้ว่าถูกต้อง ไม่ได้เป็นการเชิญสิ่งอื่นที่ไม่ต้องการเข้ามาอยู่แทน
บทความที่เกี่ยวข้อง
9 ผลไม้ ไหว้แล้วรวย เสริมความเฮง โดย อ.เจน เปิดลิขิต ธูปพยากรณ์
ของไหว้ตี่จู้เอี๊ยะ ประจำวัน และในวันพระจีน
การไหว้ตี่จู้เอี๊ยะในวันทั่วไป รวมถึงวันพระจีน (ไม่รวมวันสำคัญอื่นๆ เช่น วันสารทจีน ตรุษจีน ฯลฯ) ใช้ของไหว้ดังนี้
- ของไหว้ตี่จู้เอี๊ยะประจำวัน
- น้ำชา 5 ถ้วย
- น้ำเปล่า 3 ถ้วย
- กระดาษไหว้ 1 ชุด - ของไหว้ตี่จู้เอี๊ยะในวันพระจีน
- น้ำชา 5 ถ้วย
- น้ำเปล่า 3 ถ้วย
- ขนมอั่งถ่อก้วย (คล้ายขนมกุยช่าย ใส่สีแดง)
- ผลไม้มงคล 5 ลูก
- กระดาษไหว้ 1 ชุด
การไหว้เริ่มจากจุดธูป 7 ดอก ปัก 2 ดอกที่หมึ่งซิ้งด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 ดอก จากนั้น นำ 5 ดอกที่เหลือมาปักกระถางธูปในศาลตี่จู้เอี๊ยะ จากนั้นอธิษฐานขอพร รอให้ธูปหมดดอกแล้วลาของไหว้ ปิดท้ายด้วยการนำกระดาษไปเผาโดยปล่อยให้ไหม้จนมอดไปเองโดยไม่ต้องเขี่ย
ขั้นตอนต่างๆ นั้นอาจจะมีแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีวัฒนธรรมปลีกย่อยแตกต่างกัน รวมถึงเมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาในเมืองไทยก็ย่อมมีพัฒนาการในการไหว้บูชาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความเคารพในองค์ตี่จู้เอี๊ยะ และการปฏิบัติตัวอยู่ในศีลธรรม การหมั่นกราบไหว้บูชาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเชื่อว่าจะนำพาความสุขความเจริญมาสู่ทุกคนในครอบครัวนั่นเอง
รวมบทสวดมนต์ บทแผ่เมตตา และคาถาเสริมดวง ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
|
| |||
|
|