รีเซต

เครื่องรางหมดอายุต้องทำอย่างไร คืนที่ไหน สายมูห้ามพลาด!

  • 27 สิงหาคม 2564
  • 3,286

      จริงไหมนะ ที่เขาว่ากันว่า เครื่องรางหมดอายุ เมื่อครบ 1 ปีแล้วต้องนำไปคืนที่ศาลเจ้า เรื่องนี้เป็นที่ร่ำลือกันมานานในหมู่คนที่ชอบเที่ยวญี่ปุ่น และเช่าบูชาเครื่องรางจากศาลเจ้าญี่ปุ่นติดไม้ติดมือกลับมาด้วย แท้จริงแล้วที่มาเป็นอย่างไร และโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 แบบนี้ หากเลยกำหนด 1 ปีแล้วจะทำอย่างไรดี เพราะการเดินทางข้ามประเทศคงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งหมดนี้ TrueID Horoscope มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

 

ความจริงเกี่ยวกับ เครื่องรางหมดอายุ 

 

เครื่องรางมีอายุ 1 ปีจริงไหม

      หลายคนเชื่อกันว่าเมื่อไปบูชามาจากวัดหรือศาลเจ้าในประเทศญี่ปุ่นแล้ว เครื่องรางนั้นจะมีอายุ 1 ปีแล้วก็เสื่อมไป รวมถึงจะต้องนำไปคืนที่ศาลเจ้าหรือวัดที่บูชามา ก่อนจะหาเครื่องรางชิ้นใหม่มาบูชาต่อ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันเรื่อยมา แต่แท้จริงแล้วความเชื่อนี้มีที่มาค่ะ

 

ที่มาของเครื่องรางหมดอายุ

      จริงๆ แล้วตามธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นนั้น นิยมบูชาเครื่องรางกันตอนปีใหม่ หลายคนก็ถือโอกาสนี้เปลี่ยนเครื่องรางใหม่ แทนที่ของเก่าที่ขาดชำรุดไปตามกาลเวลา แต่เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณและความเคารพ จึงคืนเครื่องรางเหล่านั้นไปที่ศาลเจ้าหรือวัดที่บูชามา ซึ่งทางวัดหรือศาลเจ้านั้นๆ ก็จะรวบรวมไว้แล้วทำพิธีทำลายเครื่องราง ซึ่งก็มักจะทำในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปีเช่นกัน 

      ดังนั้นทางวัดหรือศาลเจ้าไม่ได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่า เมื่อเช่าเครื่องรางครบ 1 ปีแล้ว เครื่องรางนั้นจะหมดอายุ หรือจำเป็นต้องเอามาคืนแบบที่ใครหลายคนเชื่อกัน แต่เป็นเพราะธรรมเนียมของผู้คนที่นิยมปฏิบัติกัน จะอยู่ในระยะเวลา 1 ปีคือทุกๆ ปีใหม่นั่นเองค่ะ 

      อย่างไรก็ตาม เครื่องรางกับศรัทธาและความเชื่อก็เป็นของคู่กัน มีหลายๆ คนเชื่อเช่นกันว่าเมื่อขอพรต่างๆ กับเครื่องรางแล้ว พลังในเครื่องรางก็อาจถูกใช้ไปจนลดน้อยลงกว่าเดิม จึงอยากจะชาร์จพลังในการขอพรให้เต็มที่อีกครั้ง ด้วยการบูชาเครื่องรางชิ้นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อและวิจารณญาณส่วนบุคคล ไม่ใช่กฎแต่อย่างใดค่ะ

     

cowardlion / Shutterstock.com

 

เครื่องรางหมดอายุ จำเป็นต้องคืนไหม

     คำตอบก็คือ ไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับแต่อย่างใดเช่นกัน แต่ตามธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นแล้ว พวกเขาจะแสดงความเคารพและขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ รวมไปถึงเครื่องรางที่มอบพลังดีๆ ให้กับเขามาตลอดทั้งปี ดังนั้นเมื่อต้องการเปลี่ยนเครื่องรางใหม่ จึงมีการคืนเครื่องรางชิ้นเก่าให้วัดหรือศาลเจ้านั้นๆ เพื่อจะได้เข้าพิธีกำจัดหรือทำลายอย่างเหมาะสม แทนที่จะทำลายทิ้งเองซึ่งอาจจะดูไม่เหมาะสมเท่าที่ควร

     ดังนั้นถ้าจะเก็บไว้ต่อในที่ๆ เหมาะสมก็ไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่ตามกระแสความเชื่อแล้ว การส่งคืนหรือทำลายทิ้งอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้สบายใจ ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องความเหมาะสม จะเลือกแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและความสะดวกของแต่ละคนนะคะ

      

เครื่องรางหมดอายุ ต้องทำอย่างไร

กรณีที่ไปคืนได้ด้วยตนเอง

     1.ก่อนอื่นให้ดูว่าเครื่องรางนั้นเป็นของศาลเจ้าหรือของวัด โดยดูที่ตัวอักษรบนเครื่องรางตามด้านล่างนี้ค่ะ

  • ของศาลเจ้า จะมีตัวอักษร 大社 (Taisha) หรือ 神宮 (Jingū) 
  • ของวัด จะมีตัวอักษร  寺 (Tera/Ji) หรือ 寺院 (Ji-in)

     2.ไปยังศาลเจ้าหรือวัดที่บูชาเครื่องรางมา แล้วนำเครื่องรางไปคืนยังจุดที่ระบุไว้ สามารถถามคนในวัดก็ได้ หรือจะมองหาเองก็ได้โดยสังเกตคำว่า 古札収所 (Kosatsu nousho)、古札受付 (kosatsu uketsuke) หรือคำที่ใกล้เคียงกันค่ะ

 

กรณีที่ไปคืนด้วยตัวเองไม่ได้

  • เก็บรักษาไว้ในที่ๆ เหมาะสม 
  • ฝากคนที่จะเดินทางไปวัดหรือศาลเจ้านั้นๆ ช่วยคืนให้
  • ส่งเครื่องรางกลับไปทางไปรษณีย์ โดยระบุหน้ากล่องหรือซองว่า お炊き上げ希望 (otaki age kibou) หรือ お焚き上げ依頼” (สำหรับส่งคืนศาลเจ้า) หรือ “焼納依頼” (สำหรับส่งคืนที่วัด) พร้อมกับแนบเงินเยนเป็นค่าส่งคืนจำนวนหนึ่งไปด้วย ที่สำคัญอย่าลืมสอบถามทางวัดหรือศาลเจ้าก่อนว่ารับคืนทางไปรษณีย์หรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกที่ที่จะรับคืนด้วยวิธีนี้ค่ะ

กรณีต้องการกำจัดหรือทำลายเครื่องรางด้วยตนเอง

  1. กำจัดด้วยการเผา
    - ให้วางเครื่องรางลงบนกระดาษ Hanshi หรือกระดาษขาวสำหรับเขียนพู่กันแบบญี่ปุ่น - โรยเกลือลงไปเล็กน้อย โดยเริ่มจากซ้าย ตามด้วยขวา และจบที่ซ้ายอีกครั้ง- ห่อให้มิดชิดแล้วนำไปเผาในเตาหรือถังที่ทนไฟ- แสดงความขอบคุณต่อเครื่องราง เทพเจ้า และศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ขณะทำการเผา จนกระทั่งจบพิธี
  2. กำจัดด้วยการทิ้ง- ทำเหมือนข้อที่ 1 แต่เปลี่ยนจากการเผาเป็นน้ำไปทิ้ง เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่สำหรับการเผาไฟ สิ่งสำคัญคืออย่าลืมแสดงความขอบคุณ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักเลยก็ว่าได้ค่ะ

      หวังว่าทุกคนคงจะได้คลายข้อสงสัย และได้แนวทางดีๆ เกี่ยวกับจัดการเครื่องรางในช่วงโควิด-19 กันไม่มากก็น้อย ลองนำไปทำตามกันดูนะคะ 

 

บทความเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

12 เครื่องรางญี่ปุ่น ไอเท็มนำโชค ซื้อฝากก็ดี ซื้อเก็บก็ได้

 

 

หากยังอ่านดวงไม่จุใจ ติดตามอ่านดวงแบบอื่นๆ ได้ที่นี่

ดวงรายวัน

 

ดวงรายสัปดาห์

 

ดวงรายปักษ์

ดวงรายเดือน

 

เลขมงคล

 

ฤกษ์มงคล