กำหนดการเปิด เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ปี 2566 เริ่ม 22 มกราคม - 22 มีนาคม 2566 นี้ พุทธศาสนิกชนและผู้แสวงบุญท่านไหนที่อยากรู้ว่า เมื่อขึ้นไปบน เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี แล้ว จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ไหว้อย่างไร ขอพรแบบไหน ให้เหมาะสมและสำเร็จได้ง่าย TrueID Horoscope มีคำตอบอัพเดทล่าสุดของเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ปี 2566 มาให้แล้วค่ะ
เปิดเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี 2566 เปิดเมื่อไหร่ อัปเดตล่าสุด!
สายบุญเตรียมตัวให้พร้อม! วันที่ 22 มกราคม - 22 มีนาคม 2566 ที่จะถึงนี้ เตรียมตัวพบกับ งานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฎ จันทบุรี 2566 ที่หลายคนรอคอย โดยมีกำหนดการดังนี้ค่ะ
กำหนดการเปิดเขาคิชฌกูฏ ประจำปี 2566
- เปิดเขาคิชฌกูฏ วันที่ 22 มกราคม - 22 มีนาคม 2566 (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึง แรม 15 ค่ำ เดือน 4)
- พิธีบวงสรวง "ปิดป่า - เปิดเขา" วันที่ 20 มกราคม 2566
- พิธีบวงสรวง "เปิดป่า - ปิดเขา" วันที่ 22 มีนาคม 2566
ซึ่งปีนี้จะเปิดให้จองผ่านแอป KCKQue ได้ล่วงหน้าเพื่อความสะดวกรวดเร็ว แต่ใครที่ไม่ได้จองก็สามารถเดินทางไปสักการะได้เช่นกัน โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางป้องกันโควิด-19 ค่ะ การไปเขาคิชฌกูฏ ปี 66 จะต้องจองอย่างไร เดินกี่กิโล ขึ้นบรรไดกี่ขั้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย -> เปิด เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี 2566 การเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ ขั้นตอนจองคิวรถ
บทความที่เกี่ยวข้อง
วิธีเตรียมตัวไปสักการะ พระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี 2566
ตลอดทางขึ้นเขาคิชฌกูฏมีจุดไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย ดังนั้นเราสามารถเตรียมเครื่องสักการะบูชาไปเองล่วงหน้าได้ดังนี้ค่ะ
เครื่องสักการะบูชา
- ธูป 1 มัดเล็ก
- เทียน 1 ห่อ
- ทองคำเปลว 1 ห่อใหญ่
- ดอกไม้ 1 ถุง
- พลอย ตามวันเกิด
- ผ้าสามสี
หรือหากไม่สะดวกเตรียมไป ก็สามารถซื้อหาได้ที่วัด หรือตามทางขึ้นก็มีจำหน่ายเป็นระยะค่ะ
วิธีอธิษฐานขอพร ที่เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี สำหรับสายบุญ และสายมู
BaLL LunLa / Shutterstock.com
ในการอธิษฐานขอพร ว่ากันว่าให้ "อธิษฐานขอเพียง 1 อย่าง" เท่านั้น คือไม่ว่าจะขอพรกี่จุด กี่ครั้ง ก็ให้ขอเรื่องเดิม ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นเคล็ดสำคัญ บ้างก็ว่าเพื่อให้จิตของเราตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับเรื่องนั้นๆ ไม่สะเปะสะปะเพราะขอหลายอย่างมากเกินไป
ทั้งนี้ท่านพ่อเขียนได้เคยอธิบายไว้ว่า "คนบางคนมาเพื่อขอเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจสร้างบารมี อีกประการหนึ่ง คนที่จะสำเร็จในสิ่งที่ขอได้นั้นต้องมีบารมีที่เพียงพอกับสิ่งที่ขอนั้น คนบางคนขอมากเกินไป คือขอแบบโลภมาก เช่น ขอให้รวยเป็นร้อยล้าน พันล้าน ทั้งๆ ที่ไม่มีบารมี อย่างนี้สำเร็จยาก ท่านจึงสอนให้ขอในสิ่งที่เหมาะสม และขอสิ่งสำคัญในชีวิตสักหนึ่งอย่าง จะสำเร็จไวกว่าขอทีละมากๆ"
จุดไหว้สักการะ พระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ มีอะไรบ้าง
Thena khan / Shutterstock.com
จุดที่ 1 ต้นโพธิ์ ไหว้พระบาทจำลอง
จุดที่ 2 ไหว้พระปางต่าง ๆ 9 รูป
จุดที่ 3 ไหว้หลวงปู่นัง หรือพระครูพุทธบทบริบาล อดีตเจ้าอาวาสวัดพลวง (ขอพรครั้งที่ 1)
จุดที่ 4 ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแคล้วคลาดปลอดภัยก่อนขึ้นเขา
จุดที่ 5 ไหว้ที่ศาลาพระนอน อธิษฐานขอพรที่พระอภิบาลมงคลพุทธไสยาสน์ (ขอพรครั้งที่ 2)
จุดที่ 6 พระเจดีย์ (ขอพรครั้งที่ 3 )
จุดที่ 7 พระสิวลี (ขอพรครั้งที่ 4)
จุดที่ 8 พระสีหไสยาสน์ หรือ พระนอนหิน (ขอพรครั้งที่ 5) จุดนี้ถือเป็นจุดขอพรจุดสุดท้าย
จุดที่ 9 ไหว้พระ กราบสักการะรอยพระพุทธบาท
เคล็ดมงคลขอพร ที่รอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ให้ได้ผลเร็ว
- เมื่อกลับลงมาแล้วให้ขึ้นบนศาลากราบลาหลวงพ่อนัง พระครูพุทธบทบริบาล แล้วขอพรท่านช่วยให้เราได้พบความสำเร็จตามความต้องการ จากนั้นจึงค่อยกลับบ้าน
- หลายท่านให้ความสำคัญกับการเขียนคำอธิษฐานบนผ้าแดงมาก แต่แท้จริงแล้วจุดสำคัญที่สุดคือรอยพระพุทธบาท ไม่ใช่ผ้าแดง เพราะที่มาของผ้าแดงเกิดจากการที่ทางวัดได้นำผ้าแดงไปผูกไว้เป็นเครื่องหมายเตือนว่าเป็นเขตอันตรายเนื่องจากมีผู้พลัดหลงบ่อยและมีหน้าผาอันตราย ดังนั้นหากใครจะอยากไปที่ผ้าแดงก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรลืมให้ความสำคัญและตั้งใจสักการะรอยพระพุทธบาทมากที่สุดค่ะ
- ให้ความเคารพในขณะเข้าลานพระบาท เช่น ต้องถอดหมวก ถอดรองเท้า ลดสัมภาระที่สะพายบนบ่าบนไหล่ลง สวมเสื้อผ้าที่สุภาพเรียบร้อย
- สำรวมกาย วาจา ใจให้สงบเรียบร้อย ไม่พูดจาคึกคะนองหรือมีกิริยาไม่เหมาะสม
- เอาบุญไปฝากเทวดา หมายถึง ให้เอาบุญจากการที่มากราบไหว้รอยพระพุทธบาท ไปฝากหรืออุทิศให้เทวดา เช่น ขึ้นไปด้านบน ก็เอาไปอุทิศให้เทวดา หรือลงไปในถ้ำก็นำบุญไปฝากปู่ฤาษี หรือเมื่อกลับไปถึงบ้านก็ให้เอาบุญไปฝากเทวดาที่บ้านตน หรือกราบพ่อแม่แบ่งบุญให้ โดยขอพรย้ำเรื่องเดิม ที่สุดเมื่อบุญมีกำลังมากก็จะส่งผลให้สำเร็จสมปรารถนา
ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของเขาคิชฌกูฏ
Thinnapob Proongsak / Shutterstock.com
ตำนานของรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏนั้น ถือว่าไม่ปรากฏแน่ชัดนัก เพราะมีการเล่ารายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป แต่เราจะขอยกมาเรื่องหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เล่าสืบกันมาดังนี้ค่ะ
ในปี พ.ศ.2397 นายติ่งและพรรคพวกที่มีอาชีพหาของป่าได้พากันขึ้นไปหาไม้กฤษณาและของป่าอื่นๆ มาขาย ซึ่งจะต้องพักค้างแรมในป่าหลายวัน ระหว่างทางได้พากันนั่งพักเหนื่อยที่ลานหินบนยอดเขาแห่งหนึ่ง พอหายเหนื่อยแล้วก็พากันเดินกลับที่พัก แต่น่าฉงนว่าเดินเท่าไหร่ก็วนกลับมาลานหินที่เดิมซ้ำๆ
พวกเขาจึงตัดสินใจนั่งพักเหนื่อยที่ลานหินอีกครั้ง เพื่อนนายติ่งคนหนึ่งจึงถอนหญ้ารกบริเวณนั้นเพื่อจะล้มตัวนอนได้ถนัด จึงได้พบแหวนนาคขนาดใหญ่วงหนึ่ง นายติ่งและพรรคพวกต่างพากันตื่นเต้นดีใจ นึกว่ามีทรัพย์สมบัติซ่อนไว้จึงพากันถอนหญ้าค้นหากันยกใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่พบอะไรเพิ่มเติม มีเพียงรอยเท้าขนาดใหญ่ที่มีรอยขดเป็นรูปก้นหอยเท่านั้น
ในขณะนั้นนายติ่งและเพื่อนๆ ไม่รู้จักรอยพระพุทธบาทมาก่อน คิดไปว่าอาจจะเป็นรอยเท้าผู้มีฤทธิ์มีอาคม จึงพากันขอขมา และขอให้พวกตนเดินทางกลับที่พักได้ซึ่งก็น่าอัศจรรย์ว่า สามารถกลับที่พักได้อย่างง่ายดายจริงๆ ดังคำขอนั้น เมื่อกลับลงมาแล้วก็ไม่ได้เล่าให้ใครฟังว่าพบรอยพระพุทธบาท เพราะตนเองไม่รู้จักมาก่อนนั่นเอง
ต่อมานายติ่งได้ไปงานเทศกาลปิดทองรอยพระพุทธบาทที่วัดพลับ ตำบลบางกะจะ เมื่อนายติ่งได้ไปปิดทองรอยพระพุทธบาทก็รู้สึกแปลกใจมากและบอกคนอื่นๆ ว่า ที่บ้านเขาก็มีรอยเหมือนรอยพระพุทธบาทนี้เหมือนกัน เมื่อทางเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีทราบเรื่อง จึงเรียกนายติ่งไปสอบถาม และให้พระภิกษุ 2 รูปตามนายติ่งไปดู ซึ่งก็ลงความเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง และยังพบว่าลานหินนั้นมีหินก้อนใหญ่โตมาก ลักษณะคล้ายบาตรพระตะแคงตั้งลอยอยู่ เรียกว่า หินลูกบาตร ฝั่งตรงข้ามหินลูกบาตรมีรอยพระหัตถ์คล้ายกับว่ารับหินก้อนนี้ และในหินก้อนนี้ ตรงข้ามกับรอยพระหัตถ์ ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ (รอยเท้าพญามาร) อีกด้วย
ที่มาของชื่อเขาคิชฌกูฏนั้น เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อ พระบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) ซึ่งในศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฎอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นยอดเขาที่มีแนวเขาล้อมโดยรอบ และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นเมืองที่พุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดียก็ตาม
duosunshine / Shutterstock.com
จึงเชื่อกันว่าหากใครได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงบนยอดเขาคิชฌกูฏ ก็เปรียบเสมือนได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ และยิ่งหากได้มาอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามจุดต่างๆ แล้ว ก็จะสมหวังดั่งใจปรารถนา จึงทำให้ในแต่ละปีมีผู้คนหลั่งไหลมาสักการะกันอย่างไม่ขาดสายนั่นเองค่ะ
--------------------------------
บทความที่คุณอาจสนใจ
บทบูชาพระประจำวันเกิด พร้อมพิกัดไหว้เสริมมงคล โดย TrueID Horoscope
รวมบทสวดมนต์ก่อนนอน พร้อมบทแผ่เมตตา สวดทุกคืน ชีวิตดีขึ้นแน่นอน!
รวมบทสวดมนต์ บทแผ่เมตตา และคาถาเสริมดวง ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
|
| |||
|
|