รีเซต

คเณศจตุรถี 2566 บูชาพระพิฆเนศอย่างไร ให้พรสมหวังตามปรารถนา

  • 30 สิงหาคม 2565
  • 22,281 1

     วันคเณศจตุรถี คือวันคล้ายวันเกิดขององค์พระพิฆเนศ ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 10 ในเดือนภัทรปท ตามปฏิทินไทยปีนี้ เทศกาลจตุรถี จะตรงกับวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 ซึ่งคเณศจตุรถีถือเป็นเทศกาลสำคัญมากของผู้นับถือเทพสายฮินดู เพราะเชื่อว่าเป็นวันที่ท่านเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ และประทานพรให้กับผู้ที่มีศรัทธา และบางพื้นที่ก็จะบูชานานถึง 21 วันเลยทีเดียว วันคเณศจตุรถีจึงถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ผู้คนทั่วโลกต่างพร้อมใจกันสักการะบูชาองค์พระพิฆเนศ รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกันค่ะ

 

 

     โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย เมื่อถึงวันคเณศจตุรถี จะมีการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่และมีขบวนแห่องค์เทวรูปนั้นไปทั่วเมืองมุ่งหน้าสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์หรือทะเล ระหว่างทางผู้คนที่ศรัทธาในองค์พระพิฆเนศก็จะพากันมาชมการแห่องค์เทวรูป พร้อมกับแต่งกายด้วยชุดสีสันสวยงาม และร่วมกันทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล เสมือนเป็นการส่งพระองค์กลับสู่สวรรค์นั่นเอง

 

Snehal Jeevan Pailkar / Shutterstock.com

 

     สำหรับในประเทศไทยอาจจะไม่มีพิธีแห่เทวรูปขนาดใหญ่เท่าในประเทศอินเดีย แต่ก็มีการจัดพิธีบูชาและอัญเชิญพระพิฆเนศลอยน้ำกลับสู่สวรรค์เช่นกัน ในกรณีที่ไม่สะดวกร่วมพิธี ก็สามารถบูชาพระพิฆเนศที่บ้านได้เช่นกัน ซึ่งจะต้องทำอย่างไร ไหว้อะไรบ้างนั้น มาติดตามรายละเอียดกันได้เลยค่ะ

 

ไหว้ขอพรพระพิฆเนศ ในเทศกาลคเณศจตุรถี

  1. ทำความสะอาดสถานที่บูชา เช่น ห้อง โต๊ะ หิ้งต่างๆ ให้สะอาดและเป็นระเบียบ
  2. หากทำได้ ควรจัดโต๊ะตัวเล็กๆ แยกออกมาจากหิ้งบูชาเทพอื่นๆ แล้วปูด้วยผ้าสีแดงหรือสีส้มก็ได้ เพื่อจัดให้เป็นที่ประทับขององค์พระพิฆเนศ
  3. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และอัญเชิญเทวรูปองค์พระพิฆเนศจากหิ้งบูชา 
  4. หากจะสรงน้ำ ควรเป็นพระพิฆเนศที่ทำจากโลหะ หิน เรซิ่น หรือวัสดุอื่นๆ ที่โดนน้ำได้ หากไม่สามารถโดนน้ำได้ ให้ใช้ผ้าหรือแปรงปัดฝุ่นเช็ดทำความสะอาดก็เพียงพอ

 

การเตรียมของไหว้บูชาพระพิฆเนศ ในเทศกาลคเณศจตุรถี

      ของไหว้บูชาพระพิฆเนศมีมากมายหลายอย่าง และที่นิยมกันก็คือ

  • ดอกไม้สีสดใส เช่น สีแดง, สีเหลือง, สีแสด
  • ขนมต้ม ขนมหวานต่างๆ ที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และเนื้อสัตว์
  • มะพร้าวอ่อน
  • กล้วย
  • อ้อย
  • นมเปรี้ยว (แบบแขก)
  • เมล็ดข้าวสารและเมล็ดถั่วชนิดต่างๆ
  • น้ำดื่มสะอาด
  • ธูปหอม กำยาน 
  • กระถางธูปหรือโถกำยาน ตะเกียงน้ำมันหอม เทียน (หากสถานที่ไม่อำนวย จะไม่จุดก็ได้)

 

คาถาบูชาพระพิฆเนศ และการขอพรพระพิฆเนศ

  1. กล่าวคำบูชาสรรเสิญพระพิฆเนศด้วยบทสวดต่างๆ เช่น "โอม ศรีคเณศายะ นะมะฮา" หรือบทอื่นๆ 
  2. ท่องพระนาม เปิดเพลงบทสวดถวาย หรือทำสมาธิให้จิตสงบและเป็นกุศล
  3. แผ่เมตตา และกล่าวว่า "โอม ศานติ ศานติ ศานติ" ขอความสันติและสงบสุข
  4. ขอพรตามที่ปรารถนา

 

บทสวดพระพิฆเนศ 108 พระนาม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

คลิกฟัง 21 เพลงคเณศจตุรถี ไพเราะแถมมงคล

การลาของไหว้บูชาพระพิฆเนศ

  • หากจุดเทียน เมื่อสวดมนต์เสร็จแล้วสามารถเป่าดับได้ทันที
  • หากจุดธูปหรือกำยานให้รอจนเผาไหม้หมดก่อน จึงค่อยลาของถวาย
  • หากไม่ได้จุด ให้รอประมาณ 15 นาที ก็สามารถลาของไหว้ได้ โดยพนมมือแล้วยกของลง

 

การบูชาพระพิฆเนศด้วยใบไม้ ในเทศกาลคเณศจตุรถี

      นอกจากการบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งพิธีกรรมนั่นก็คือ "เอกวีสติ ปัตรบูชา" หรือการบูชาด้วยใบไม้ 21 ชนิดเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งอ.พิทักษ์ โค้ววันชัย แห่ง siamganesh.com ได้อธิบายรายละเอียดไว้ดังนี้ค่ะ

     "นับตั้งแต่วันแรก ไปจนถึงวันสุดท้าย (พิธีกรรมจะมี 21 วัน) ผู้บูชาจะต้องถวายใบไม้แด่พระพิฆเนศ วันละ 1 ประเภท ถวายทุกวันไปจนครบ 21 วัน และใบไม้ 21 ประเภท

     ทั้งนี้ หากเราไม่ได้เข้าร่วมงานคเณศจตุรถี หรืออยากถวายใบไม้โดยไม่ต้องการรอให้ถึงวันคเณศจตุรถี ก็สามารถถวายได้ในทุกโอกาส โดยเลือกใบไม้ที่เราสามารถจัดหามาได้ ให้เด็ดมาหลายๆใบ จัดวางใส่จานให้สวยงาม แล้วถวายต่อพระพิฆเณศพร้อมๆกับการสวดมนต์ประจำวัน และสามารถเลือกถวายหลายๆ ชนิดปะปนสลับสับเปลี่ยนในแต่ละวัน ซึ่งใบไม้แต่ละชนิด จะมีบทสวดมนต์กำกับ สำหรับสวดบูชาตอนถวาย ดังนี้

1. ใบมาจี (หญ้าคา)
บทสวด สุมุขายะ นะมะ มาจีปะตะรัง ปูชะยามิ

2. ใบพฤหตี (หนามแดง, ใบมะเขือพวงหรือมะแว้ง)
บทสวด คณาธิปายะ นะมะ พฤหะตะ ปะตะรัง ปูชะยามิ

3. ใบพิละวะ (ใบมะตูม)
บทสวด อุมาปุตรายะ นะมะ พิละวะปะรัง ปูชะยามิ

4. ใบทูรวา (หญ้าแพรก)
บทสวด คานะนายะ นะมะ ทูระวายุคะมัง ปูชะยามิ

5. ใบทุตูระ (ใบลำโพง, ชุมเห็ดเทศ)
บทสวด หะระสูนะเว นะมะ ทุตะตูรปตะรัง ปูชะยามิ

6. ใบพุทรา
บทสวด ละมะโพทะรายะ นะมะ พะทะรีปะตะรัง ปูชะยามิ

7. ใบอปามารค (ใบพันธุ์งู)
บทสวด คุหะคะรุชายะ นะมะ อะปามาระคะ ปะตะรัง ปูชะยามิ

8. ใบตุลสี (ใบกระเพราแดง)
บทสวด คะชะกะระณายะ นะมะ ตุละสีปะตะรัง ปูชะยามิ

9. ใบมะม่วง
บทสวด เอกทันตายะ นะมะ จูตะปะตะรัง ปูชะยามิ

10. ใบกรวี (รำเพย, ยี่โถฝรั่ง)
บทสวด วิกะตะยะ นะมะ กะระวีระปะตะรัง ปูชะยามิ

11. ใบวิษณุกรานตะ (ไม่พบในไทย)
บทสวด ภินุนะทะนุตายะ นะมะ วิษณุกรานะตะปะตะรัง ปูชะยามิ

12. ใบทับทิม
บทสวด วะตะเว นะมะ ทิทิมีปะตะรัง ปูชะยามิ

13. ใบเทวทารุ (ไม่ทราบชื่อไทย)
บทสวด สรเวศะวะรายะ นะมะ เทวะทารุปะตะรัง ปูชะยามิ

14. ใบมธุวกะ (ใบมทนา)
บทสวด ผาลา จันทะรายะ นะมะ มรุวะกะปะตะรัง ปูชะยามิ

15. ใบสินธุวาร (ใบคนทีเขมา)
บทสวด เหรัมพายะ นะมะ สินูวาระปะตะรัง ปูชะยามิ

16. ใบชาชี (ใบจันทร์เทศ)
บทสวด ศุรุกะระณายะ นะมะ ชาชีปะตะรัง ปูชะยามิ

17. ใบคัณฑาลี (ไม่ทราบชื่อไทย)
บทสวด สุราคะระชายะ นะมะ คะนะทาลีปะตะรัง ปูชะยามิ

18. ใบสมี
บทสวด อิกะวา กะตะรายะ นะมะ สะมีปะตะรัง ปูชะยามิ

19. ใบอัสสัตถะ (ใบไม้โพ)
บทสวด วินายะกายะ นะมะ อะสะวะตะ ปะตะรัง ปูชะยามิ

20. ใบอรชุน (สลักหลวง, ยอป่า, สลักป่า)
บทสวด สุรเสวิตายะ นะมะ อรชุนะปะตะรัง ปูชะยามิ

21. ใบอรกะ (ใบต้นรัก)
บทสวด กะปิลายะ นะมะ อะระกะปะตะรัง ปูชะยามิ

 

     ผู้ศรัทธาจึงควรถวายใบไม้ต่อพระพิฆเณศบ้างในบางโอกาส เมื่อจัดหาใบไม้ชนิดใดมา ก็ให้สวดมนต์สำหรับถวายใบไม้ชนิดนั้นๆ ประกอบกับการถวายผลไม้ น้ำ นม ดอกไม้ต่างๆ และสวดมนต์อ้อนวอนจนองค์ท่านพึงพอพระทัย ท่านจะประทานพรแด่ผู้หมั่นสวดมนต์ ถวายของบูชาและกระทำความดี..."

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย แห่ง siamganesh.com

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับพระพิฆเนศ

 

รวมบทสวดมนต์ บทแผ่เมตตา และคาถาเสริมดวง ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

บทสวดมนต์ ตอนเช้า

 

บทสวดมนต์ ก่อนนอน

 

รวมบทสวดมนต์ต่างๆ

รวม บทแผ่เมตตา

 

รวมคาถา เสริมดวง

 

รวมคาถา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์