รีเซต

เปิด 13 ความเชื่อ จากหนัง ร่างทรง (THE MEDIUM) หลอนนี้มีที่มา!

  • 05 พฤศจิกายน 2564
  • 4,116

     ความเชื่อเรื่อง ฺร่างทรง ผี และ สิ่งลี้ลับ มีมายาวนานและแผ่รากฝังลึกอยู่ทั่วโลก จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ผู้คนเข้าถึงได้แม้ต่างชาติต่างภาษา ซึ่งคงเป็นเหตุผลว่าทำไมภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง (THE MEDIUM) ผลงานจาก โต้ง – บรรจง ปิสัญธนะกูล ร่วมกับโปรดิวเซอร์ชื่อดัง นาฮงจิน จึงเป็นภาพยนตร์ไฮไลท์แห่งปีของไทย และดังไกลในระดับนานาชาติ 

     

(คำเตือน - บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง และเป็นเพียงการนำเสนอเรื่องราวความเชื่อเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

 

     เช่นเดียวกับลัทธิชาแมน และร่างทรงของเกาหลีที่เรียกกันว่า 'มูดง' ที่มีมาพร้อมกับจุดกำเนิดของประเทศเกาหลี...ความเชื่อเกี่ยวกับร่างทรงแบบไทยๆ ก็หยั่งรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของชาวอีสานมายาวนานไม่แพ้กัน 

     ชาวอีสานส่วนใหญ่มีความผูกพันกับ 'ผี' ในแบบต่างๆ มาตั้งแต่โบราณ เช่น ผีเชื้อ ผีบ้าน ผีนา ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำมาหากิน ความเป็นอยู่ รวมไปถึงผีที่เกี่ยวเนื่องกับเคราะห์ร้าย การเจ็บป่วยต่างๆ นำไปสู่พิธีกรรมตามความเชื่อมากมาย ที่สัมพันธ์กับความเชื่อในเรื่องการเสริมดวง สะเดาะเคราะห์ และทำนายดวงชะตาของผู้คน 

     ความเชื่อเหล่านั้นจะชวนขวัญผวาแค่ไหน ลองมาถอดรหัส 13 ความเชื่อเรื่องพิธีกรรม ผี และสิ่งลี้ลับ จากหนังเรื่อง 'ร่างทรง' กันได้เลย

 

1.ความเชื่อเรื่อง ร่างทรง สื่อกลางระหว่างสองโลก
     

ความเชื่อเรื่อง ร่างทรง ย่าบาหยัน


     ชาวอีสานมีความเชื่อในเรื่องผีเป็นอย่างมาก โดยมีพื้นความเชื่อสืบต่อกันมา ว่าผีสางเทวดาคือผู้มีฤทธิ์บันดาลภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง อาการเจ็บไข้ได้ป่วย เคราะห์หามยามร้ายต่างๆ ของผู้คน เมื่อมนุษย์ละเมิดต่อผี การละเมิดต่อบรรพบุรุษ ก็จะพบกับเรื่องร้ายๆ ตามมา จึงมีการเซ่นไหว้ผีสางเทวดาต่างๆ และเชื่อว่าเมื่อเป็นที่พอใจแล้ว ผีสางเทวดาเหล่านั้นก็จะช่วยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ โรคภัยไข้เจ็บหายไป ผู้คนมีความสุขและโชคดี


     ในหนังเรื่องร่างทรงนั้น บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ย่าบาหยัน’  ซึ่งก็คือผีบรรพบุรุษผู้คอยปกปักรักษาหมู่บ้าน ให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยจะช่วยเหลือผ่าน 'ร่างทรงผู้หญิง' ที่ได้รับคัดเลือกจากลูกหลานในตระกูล เมื่อร่างทรงแต่งชุดพื้นเมืองพร้อมผ้าขาวม้าพาดไหล่ ร่ายรำ สวดมนต์ ภาวนา และถวายขันธ์ 5 จนกระทั่งย่าบาหยันประทับทรงแล้ว ย่าบาหยันก็ช่วยปัดเป่าภัยให้ชาวบ้านได้คลายทุกข์

 

 

     ในชีวิตจริง ก็มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ความเชื่อเรื่อง 'พญาแถน' หรือ 'ผีฟ้า' หรือ 'ผีแถน' ตามแต่จะเรียกขานกันในแต่ละท้องที่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระอินทร์ และบ้างก็เชื่อว่าผีฟ้าหรือผีแถนสามารถกำหนดการเกิดและตายของคนเราได้ โดยจะมีพิธีเชิญที่เรียกว่าลำผีฟ้า โดยหมอลำผีฟ้าจะต้องเป็นผู้หญิง ที่สืบเชื้อสายจากกลุ่มหมอลำผีฟ้าเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องมีหมอแคน และเครื่องคาย เพื่อประกอบพิธีด้วย และมีรูปแบบเครื่องแต่งกายเฉพาะ ดังนี้

  1. หมอลำผีฟ้า 
    -เมื่อรักษาผู้ป่วยหญิง จะสวมผ้าแพรหรือผ้าฝ้าย ทับผ้าที่สวมอยู่
    -เมื่อรักษาผู้ป่วยชาย จะสวมผ้าซิ่น ทับผ้าที่สวมอยู่

  2. ผู้ป่วย จะมีผ้าไหมหรือผ้าขาวม้าพาดบ่า และมีดอกมะละกอ ตัดร้อยเป็นพวงทัดหูเอาไว้

   ในการรักษาหมอลำและผู้ป่วยจะต้องฟ้อนรำร่วมกัน และขึ้นอยู่กับผู้ป่วยด้วย หากผู้ป่วยต้องการดูการฟ้อนรำของผีฟ้า หมอลำก็จะทำหน้าที่ต่อ แต่ถ้าไม่ต้องการก็จะนำเครื่องคายขึ้นไปเก็บบนหิ้ง ก่อนจะมารับประทานอาหารร่วมกัน 

    ซึ่งในบางท้องถิ่นก็เชื่อกันว่า หากผีฟ้าเลือกใครเป็นผู้สืบทอดแล้ว ผู้นั้นก็ควรจะต้องรับหน้าที่ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการขัดต่อผี ทำให้เกิดเหตุไม่ดีต่างๆ ตามมาได้ เช่นเดียวกับเรื่องราวในหนังร่างทรง ที่มีเหตุต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งกับ 'นิ่ม' และพี่สาว จนกว่าจะมีคนยอมรับเป็นร่างทรงของย่าบาหยันนั่นเอง

 

2.ความเชื่อเรื่อง ผีตาแฮก ที่พึ่งทางใจของเกษตรกร

 


     ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ชาวอีสานส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม จึงเกิดความเชื่อว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์ ผลผลิตจะงอกงามดี จะต้องไหว้ผีเสียก่อน ดังนั้นเมื่อจะทำนาตาแฮก (แฮก แปลว่า แรก) ก็จะต้องบูชาผีตาแฮกก่อนเริ่มดำนา

      ก่อนที่จะดำนาเต็มที่ ชาวบ้านจะเริ่มจากดำนาในพื้นที่เล็กๆ และสร้างศาลที่อยู่หลังเล็กๆ ให้เป็นที่อยู่ของผีตาแฮก เพื่อให้ผีตาแฮกคอยอยู่ดูแลท้องนา พร้อมกับมีพิธีเซ่นไหว้ และปักดำนาตาแฮก ก่อนจะเริ่มปักดำนาจริงๆ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยให้ไร่นามีน้ำท่าบริบูรณ์ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้มาก

 

3.ความเชื่อเรื่อง ผีปู่ตา ผู้อารักขาแห่งท้องถิ่น


     ในบ้านมีผีบ้านผีเรือน ในระดับชุมชนก็มี 'ผีปู่ตา' ซึ่งเป็นเหมือนเจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษของชุมชนนั้นๆ ผู้คอยปกปักรักษาให้ชุมชนบริเวณนั้นๆ สงบสุข ทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ศาลผีปู่ตาจะแทรกอยู่ในชุมชน ป่าเขา และพื้นที่ทำกิน ใครผ่านมาก็จะแสดงความเคารพ จะไปไหนมาไหนก็บอกกล่าวเสมือนบอกกล่าวญาติผู้ใหญ่ เมื่อมีปัญหาก็ไหว้ขอให้ผีปู่ตาช่วยเหลือ และยังมีพิธีเซ่นไหว้ประจำปีอีกด้วย

 

4.ความเชื่อเรื่อง หลักบือ หรือ บือบ้าน หลักใจของชาวบ้าน

 

     

     ในภูมิภาคอื่นๆ อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า 'ศาลหลักเมือง' แต่สำหรับชาวอีสานยังมีอีกหลักสำคัญที่ผู้คนเชื่อถือและเคารพ นั่นก็คือ 'หลักบือ' หรือ 'บือบ้าน' ที่สร้างจากไม้มงคล เป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองและค้ำจุนผู้คนในหมู่บ้าน เมื่อจะเดินทางออกจากหมู่บ้าน เดินทางกลับหมู่บ้าน หรือมีคนแปลกถิ่นเข้ามาอาศัย ก็จะต้องมาไหว้และบอกกล่าวเสมอ และมีพิธีเซ่นไหว้สม่ำเสมอทุกปีเพื่อความสุขสงบของหมู่บ้าน 

 

5. ความเชื่อเรื่อง ผีแม่ม่าย กับ เสื้อแดงแก้อาถรรพ์


      ฉากที่มีเสื้อแดงแขวนอยู่หน้าบ้านทุกบ้านนี้ สะท้อนถึงประเด็นที่กลายเป็นข่าวทุกปีในแถบอีสาน นั่นก็คือเรื่อง 'ผีแม่ม่าย' ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเกิดข่าวลือเรื่องผีแม่ม่ายจะมาเอาชีวิตผู้ชายไป ทำให้ชาวบ้านตื่นกลัว และเกิดวิธีการแปลกๆ ขึ้นมาป้องกัน เช่น เอาเสื้อแดงมาแขวนหน้าบ้าน ติดป้ายหน้าบ้านว่า 'บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย มีแต่ผู้หญิง' หรือนำหุ่นผู้ชายมาแขวนหน้าบ้าน ด้วยความเชื่อว่าวิธีเหล่านี้จะช่วยแก้อาถรรพ์เมื่อมีผู้ชายเสียชีวิตในเวลาใกล้ๆ กันภายในหมู่บ้านได้

     ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีมูลความจริงและพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ยังมีผู้คนไม่น้อยที่ยังเชื่อเรื่องดังกล่าว และยังคงมีข่าวผีแม่ม่ายตามสื่อต่างๆ เป็นประจำแทบทุกปี

 

6.ความเชื่อเรื่อง รับขันธ์ ข้อผูกพันของสองโลก

 
    ภายในหนังได้มีฉากที่พูดถึงการรับขันธ์ ว่าไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันสุ่มสี่สุ่มห้าเพราะจะเป็นอันตรายได้ คนอีสานบางกลุ่มรวมถึงในภูมิภาคอื่นๆ ของไทยก็มีความเชื่อในเรื่องนี้ บางที่ก็เป็นการรับขันธ์ครู บางที่ก็เป็นการรับขันธ์สิ่งที่ตนนับถือ ซึ่งผู้รับมีความเชื่อว่าเพื่อเป็นการอัญเชิญครูบาอาจารย์ หรือสิ่งที่ตนเคารพนับถือมาปกป้องคุ้มครองตัวเอง โดยขันธ์นี้มาจาก ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่ใช่ศีล 5 อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจผิด เมื่อรับมาแล้วสิ่งนั้นก็จะมีอิทธิพลกับร่างกายและจิตใจของเราในทางใดทางหนึ่ง แต่จะเป็นไปในทางที่ดีจริงหรือไม่ ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง 

 

7.ความเชื่อเรื่อง พิธีสะเดาะเคราะห์ เรียกขวัญให้กลับคืน


     หลายฉากในหนังร่างทรง แสดงให้เห็นความพยายามของแม่ ที่ตระเวนพามิ้งค์ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ตามที่ต่างๆ โดยหวังว่าเรื่องผิดปกติทั้งหมดจะหายไป และเรียกสติ เรียกขวัญของลูกสาวให้กลับมา

     สำหรับชาวอีสานก็มีความเชื่อในเรื่องการสะเดาะเคราะห์มากมายตามแต่ละท้องถิ่น หนึ่งในพิธีที่โดดเด่นก็คือ การแต่งแก้ เสียเคราะห์ และเสียเข็ญ 

     โดยเสียเคราะห์ใช้กับการปัดเป่าเรื่องหนักๆ เรื่องที่อาจถึงแก่ชีวิต

     ส่วนเสียเข็ญ จะใช้กับเรื่องที่สร้างความรำคาญใจในการใช้ชีวิต โดยเชื่อว่าเป็นการกล่าวบูชาเทวดา ภูติผีเจ้าชะตา มาช่วยปัดเป่าเคราะห์หามยามร้ายให้พ้นไป ที่เจ็บป่วยก็หาย ที่จิตใจไม่สบายก็ดีขึ้น นิยมทำใน วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์

 

8.ความเชื่อเรื่อง ใครเรียก ห้ามขานรับ


     หนึ่งในความเชื่อแต่โบราณคือ หากมีใครมาเรียก (โดยเฉพาะกลางคืน) อย่าขานรับ เพราะอาจเป็นผี หรือของคุณไสยต่างๆ ที่ถูกปล่อยมา หากขานรับแล้วจะทำให้ผีเข้าตัว หรือโดนคุณไสยนั้นๆ ได้ โดยเฉพาะวันโกน วันพระ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวันที่วิญญาณได้รับการปล่อยตัวจากนรกมารับส่วนบุญ ผู้คนจะยิ่งระวังตัวเป็นพิเศษ และสืบทอดความเชื่อนี้ต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

9.ความเชื่อเรื่อง ลากไข่ถอนคุณไสย


      ฉากในหนังสื่อให้เห็นพิธีกรรมหนึ่ง ที่ 'นิ่ม' ร่างทรงย่าบาหยันตอกไข่ออกมาแล้วมีลักษณะดำคล้ำเป็นของเสีย ซึ่งการใช้ไข่เป็นสื่อในพิธีกรรมนั้นมีมาแต่โบราณ เช่น ทางเขมรจะเรียกพิธีกรรมลักษณะนี้ว่า 'เลียกดอก' (เลียก หมายถึง ลาก ส่วนคำว่า ดอก หมายถึง ถอน) ซึ่งใช้รักษาคนเจ็บป่วย หรือคนถูกคุณไสย และเชื่อกันว่า เมื่อใช้ไข่ลากถอนสิ่งไม่ดีออกมาแล้ว เมื่อตอกออกมาก็จะพบของเสียหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายใน หรือมีกลิ่นเหม็นเน่า สีดำคล้ำ เป็นต้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

10.ความเชื่อเรื่อง ปักธูปกลับหัว


     โดยปกติเราใช้ธูปเป็นสื่อกลางในการสื่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงความเคารพ หรือเพื่อขอพร เสริมความเป็นสิริมงคล แต่ในทางกลับกันก็มีความเชื่อว่า การปักธูปกลับหัวนั้นให้ผลตรงกันข้าม นั่นก็คือเป็นการสาปแช่ง หรือเป็นการสะกดดวงวิญญาณ ซึ่งก็มีความเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำเล่นๆ ได้ เพราะอาจทำให้สิ่งไม่ดีย้อนกลับเข้าตัวเองเช่นกัน 

 

11.ความเชื่อเรื่อง พลีกรรมด้ำผี สังเวยชีวิตควาย


     หลายพิธีกรรมตั้งแต่ลาวใต้ไล่เรื่อยมาจนถึงภาคอีสานบ้านเรา มักมีการ 'ฆ่าควายเลี้ยงผี' เพื่อเป็นการเซ่นสรวงผีทั้งหลาย และเพื่อแจกจ่ายเนื้อควายให้ผู้มาร่วมงาน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพิธีกรรมใด เรียกกันว่า พลีกรรมด้ำผี หรือ พลีกรรมผี บางพิธีก็จะมีการนำหัวควายและหางควายมาประกอบพิธีด้วย คล้ายกับฉากในหนังที่ผู้ทำพิธีมีการฆ่าควาย แล้วถือหัวควายไว้ขณะสวดคาถา เป็นต้น

 

12.ความเชื่อเรื่อง การอาบน้ำมนต์ อาบน้ำว่าน เพิ่มอาคมเข้มขลัง

 
     ฉากที่อาจารย์ผู้ทำพิธีนั่งแช่น้ำก่อนทำพิธีนั้น ดูคล้ายกับความเชื่อหนึ่งของชาวอีสาน รวมถึงผู้คนในภาคอื่นๆ ด้วย นั่นก็คือ การอาบน้ำมนต์ และ การอาบน้ำว่าน 

     โดยเชื่อกันว่าการอาบน้ำมนต์จะช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคล วิญญาณร้าย เสนียดจัญไรทั้งหลาย ในขณะที่การอาบน้ำว่านมีหลายจุดประสงค์ ขึ้นอยู่กับวิชาและชนิดของว่านที่ใช้ ซึ่งมีทั้งอาบเพื่อให้คงกระพันชาตรี หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า อาบเพื่อขับไล่ผี สิ่งชั่วร้ายต่างๆ หรืออาบเพื่อสะเดาะเคราะห์ รักษาโรค เป็นต้น ซึ่งอาจารย์ผู้ทำพิธีจะต้องรอบรู้ในเรื่องว่านต่างๆ พร้อมสวดคาถากำกับตามหลักวิชา เพื่อดับส่วนที่เป็นพิษของว่านนั้นๆ ไม่ให้เป็นภัยแก่ร่างกายผู้อาบด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

13.ความเชื่อเรื่อง ของเข้าตัว เมื่อสิ่งชั่วร้ายย้อนกลับ

 

      ในช่วงท้ายของเรื่องที่ดูเผินๆ เหมือนผู้คนเกิดจิตวิปลาสคุ้มคลั่งคล้ายซอมบี้แบบฉบับหนังฝรั่ง แต่หากมองในมุมความเชื่อของคนไทยนั้น จะดูคล้ายกับอาการของคนที่ 'ของเข้าตัว' คือการที่คุณไสยย้อนกลับหาตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะผิดครู ผิดผี หรือทำพิธีผิดพลาดไม่ตรงตามขั้นตอน ทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้เพราะถูกผีเข้าแทรก ไสยวิชาเข้าคุม ในที่สุดคนผู้นั้นก็จะกลายเป็นผีปอบ หรือเสือสมิง เที่ยวกินเนื้อดิบ ทำร้ายกัดกินสัตว์และผู้คนแบบควบคุมตนเองไม่ได้ จนกว่าจะตายนั่นเอง

 

      ถึงแม้ทุกวันนี้โลกจะเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี เปลี่ยนสภาพจากป่าทึบอันลึกลับ กลายเป็นป่าคอนกรีตสูงระฟ้า แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า...ความเชื่อเรื่องผีและพิธีกรรมเหล่านี้ยังคงแผ่รากฝังลึกอยู่ภายใต้ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างยากจะถอน

     ซึ่งความเชื่อเหล่านี้จะเป็นเรื่องจริง...ข่าวลือ...หรือแค่อุปทานหรือไม่ และจะนำพาไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นหรือตกต่ำลงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนนั่นเอง      

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 

หากยังอ่านดวงไม่จุใจ ติดตามอ่านดวงแบบอื่นๆ ได้ที่นี่

ดวงรายวัน

 

ดวงรายสัปดาห์

 

ดวงรายปักษ์

ดวงรายเดือน

 

เลขมงคล

 

ฤกษ์มงคล