รีเซต

วันศิวะราตรี 2566 หรือ มหาศิวะราตรี ค่ำคืนแห่งพระศิวะที่สายมูห้ามพลาด!

  • 17 กุมภาพันธ์ 2566
  • 5,989

   สำหรับผู้ศรัทธาเทพฮินดู วันศิวะราตรี 2566 หรือ มหาศิวะราตรี เป็นค่ำคืนแห่งพระศิวะที่ผู้คนจะพากันเฉลิมฉลอง สวดบูชา และถวายเครื่องสักการะแด่องค์พระศิวะในยามค่ำคืนไปจนถึงเช้าวันใหม่ และยังเป็นเทศกาลใหญ่สำหรับหลายๆ ประเทศที่นับถือศาสนาฮินดูเลยทีเดียว วันศิวะราตรี หรือ เทศกาลศิวะราตรี มีที่มาอย่างไร TrueID Horoscope มีสาระดีๆ เกี่ยวกับวันศิวะราตรีที่กำลังจะมาถึงให้แล้วค่ะ

 

 

วันศิวะราตรี 2566 ตรงกับวันอะไร

      วันศิวะราตรี ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือนผลคุณ ตามปฏิทินฮินดู สำหรับปฏิทินสากลปี 2566 นี้ จะตรงกับ วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ในวันนี้ผู้นับถือศาสนาฮินดูจะจัดงานเฉลิมฉลองไปจนถึงรุ่งเช้า ถือเป็นเทศกาลใหญ่ในหลายๆ ประเทศเลยทีเดียว ในประเทศไทยเองก็มีจัดงานในหลายจังหวัดเช่นกัน ในกรุงเทพ สถานที่จัดงานที่มีชื่อมากที่สุดอย่าง วัดแขก สีลม ก็มีพิธีบูชาวันศิวะราตรี เช่นกัน โดยบูชาครั้งแรกเวลา 20.00 น. พิธีบูชาครั้งที่สองเวลา 23.00 น. และพิธีบูชาครั้งที่สี่เวลา 05.00 น. (คลิกอ่าน ปฏิทินวันไหว้เทพฮินดู งานพิธีประจําปี 2566 วัดแขกสีลม)

 

วันศิวะราตรี บูชาเพื่ออะไร มีความสำคัญอย่างไร

        พระศิวะ หรือพระอิศวร เป็น 1 ในมหาเทพองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบด้วย พระพรหม พระวิษณุหรือพระนารายณ์ และพระศิวะ เรียกรวมกันเป็น “ตรีมูรติ” โดยพระองค์ถูกรู้จักในฐานะเทพผู้ทำลาย แต่เป็นการทำลายเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ และเป็นเทพที่ชาวฮินดูจำนวนมากนับถือและนิยมบูชาจนเป็นหนึ่งในลัทธิใหญ่ของศาสนานี้ ดังรู้จักในนาม “ไศวะนิกาย” โดยพระองค์มีพระชายาคือพระนางปาราวตีหรือพระอุมา และมีพระโอรสที่โดดเด่นอยู่ 2 พระองค์ คือพระขันทกุมาร เทพแห่งสงคราม และพระคเณศ เทพแห่งความสำเร็จ อีกทั้งพระองค์ยังถูกบูชาในรูปลักษณ์ของ “ศิวลึงค์” อีกด้วย

      จุดประสงค์หลักของงานเทศกาล คือการบูชาพระศิวะผู้เป็นเสมือนความสว่าง เอาชนะความมืดและความโง่เขลาในชีวิต โดยการระลึกถึงพระศิวะ การสวดมนต์ การฝึกโยคะ การถือศีลอด การทำสมาธิบำเพ็ญเพียร ไตร่ตรองเกี่ยวกับคุณธรรมต่างๆ รวมถึงจัดการเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ 

 

ตำนาน วันศิวะราตรี 2566 หรือ มหาศิวะราตรี มีที่มาอย่างไร

      จากตำนานที่แต่งในศาสนาพราหมณ์ได้กล่าวไว้ว่า ในอดีตมีนายพรานป่าคนหนึ่งกลับมาจากล่าสัตว์ในป่า ได้ปีนขึ้นไปสร้างห้าง (ที่พักบนต้นไม้ในป่าชั่วคราว) อยู่บนต้นมะตูมใหญ่เพื่อค้างคืนก่อนจะกลับบ้าน

      ในคืนนั้นนายพรานหนาวสั่นเพราะน้ำค้างลงและหิวโหยอย่างมาก จึงนอนดิ้นกระสับกระส่ายตลอดคืนทำให้น้ำค้างที่เกาะใบมะตูมและใบมะตูมร่วงลงสู่ศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ใต้ต้นมะตูมนั้นตลอดทั้งคืน บางตำนานก็ว่านายพรานคิดถึงครอบครัวมากจึงกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ พลางดึงใบมะตูมแล้วปล่อยร่วงลงไป บางตำนานก็ว่านายพรานดึงใบมะตูมโยนลงด้านล่างเพื่อเป็นเหยื่อล่อกวาง

      แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไร ทั้งใบมะตูมและน้ำค้างที่ร่วงหล่นบนศิวลึงค์ ก็ทำให้พระศิวะที่ประทับบนเขาไกรลาศรับรู้ พระองค์จึงประทานพรให้นายพรานนั้นเลิกฆ่าสัตว์และพ้นจากบาปที่เกิดจากการล่าสัตว์มาตลอดชีวิต

      ต่อมาภายหลังเมื่อนายพรานสิ้นลมหายใจไปแล้ว ก็ได้ไปอยู่ในศิวโลก เป็นพระบริวารแห่งพระองค์อย่างมีความผาสุก หลุดพ้นจากบาปทั้งหมดที่ได้ทําไว้ เมื่อถึงวาระกลับมาเกิดก็ได้เป็นพระราชามีพระนามว่า พระไชตรภานุ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยอดในการบูชาต่อพระศิวเทพ

      จากนั้นเป็นต้นมาจึงมีพิธีกรรมบวงสรวงบูชาองค์พระศิวะ โดยมีการโปรยใบมะตูม พวงมาลัยดอกไม้ และมีการอดข้าวอดน้ำ อดนอน เพื่อสังเวยองค์พระศิวะตามตำนานดังกล่าวจวบจนถึงปัจจุบัน

 

 

วันศิวะราตรี 2566 บูชาอย่างไร ไหว้อะไร

      ในวันนี้ผู้บูชาจะนำ พระสัญลักษณ์ของพระศิวะ หรือ ศิวลึงค์ มากราบไหว้บูชาด้วยการรดน้ำ น้ำนม นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำมันเนยแท้ ใบพลู ใบมะตูม ผลไม้ต่างๆ ขี้เถ้า และดอกไม้ต่างๆ  รวมไปถึงโปรยใบมะตูมตามตำนานที่มาของพิธีมหาศิวะราตรีด้วย

      นอกจากนี้ผู้ศรัทธาจะมาชุมนุมกันตามศาสนสถาน เทวาลัยต่างๆ เพื่อประกอบพิธีบวงสรวงกราบไหว้บูชาพระศิวะ ท่องมนตร์บูชา ทําสมาธิถึงพระศิวเทพ และผู้บูชาจะอดอาหารอดน้ำอย่างเข้มงวดในระหว่างประกอบพิธีมหาศิวะราตรี ซึ่งเชื่อกันว่าพระศิวะจะทรงโปรดและเสด็จมาประทานพรให้แก่บริวารแห่งพระองค์ 

      อ่านวิธีบูชาพระศิวะเพิ่มเติม คลิก พระศิวะ บูชาอย่างไร บทสวดบทไหน พร้อมเคล็ดลับการขอพร โดยสยามคเณศ

 

คาถา และ บทสวดบูชาพระศิวะ

โอม นะมัส ศิวายะ (3 จบ หรือ 108 จบ)

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ