รีเซต

บทสวดชุมนุมเทวดา สวดอย่างไรให้มงคล เสริมชีวิตรุ่งเรือง

  • 17 พฤศจิกายน 2565
  • 24,475

     ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ทั่วไป หรือการทำพิธีสำคัญ บทสวดชุมนุมเทวดา ถือเป็นบทสำคัญบทหนึ่ง ที่สวดกันมายาวนาน เพราะเทวดามีความเกี่ยวข้องกับผู้คนและพระพุทธศาสนามายาวนาน เราควรสวดชุมนุมเทวดาตอนไหน สวดอย่างไรให้เกิดสิริมงคล มาติดตามรายละเอียดกันได้เลยค่ะ

 

 

การสวด บทสวดชุมนุมเทวดา ที่มีมาอย่างไร


     กล่าวกันว่า การสวด คาถาชุมนุมเทวดา หรือ การสวดพระปริตร เกิดขึ้นครั้งแรกราว พ.ศ. 500 โดยชาวลังกาที่นับถือพระพุทธศาสนาได้อาราธนาให้พระสงฆ์ช่วยสวดมนต์เพื่อป้องกันอันตรายให้ผู้คน และเพื่อเสริมสิริมงคลให้ชีวิตรุ่งเรือง พระสงฆ์จึงสงเคราะห์ประชาชนด้วยการคิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น คือเป็นการเลือกพระสูตร หรือคำที่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย มาสวดให้ผู้คน เมื่อเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ก็มีพระปริตรหรือบทสวดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงบทสวดชุมนุมเทวดาด้วยเช่นกัน จนกระทั่งนิยมสวดสืบต่อกันมาในปัจจุบัน

    

บทสวดชุมนุมเทวดา สวดตอนไหน 

     บทชุมนุมเทวดา มักจะสวดก่อนพิธีต่างๆ รวมถึงเป็นบทที่พระสงฆ์จะสวดก่อนที่จะสวดเจริญพระพุทธมนต์ จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการเชิญให้เหล่าเทวดามารับฟังธรรมบทต่างๆ มักจะสวดเมื่อมีพิธีการต่างๆ ซึ่งมีการอัญเชิญมาก่อนเริ่มพิธี และมีการอัญเชิญกลับเมื่อจบพิธี แต่สำหรับการสวดมนต์ประจำวันที่บ้าน หรือการสวดมนต์ก่อนนอนนั้น ไม่จำเป็นต้องสวดชุมนุมเทวดาก็ได้ เพียงแค่อุทิศบุญแผ่เมตตาแล้วระลึกถึงเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็เพียงพอ 

 

บทสวดชุมนุมเทวดา สวดอย่างไร ลำดับการสวดอย่างไร

      บทสวดชุมนุมเทวดา ในปัจจุบันมีสองแบบ คือ

  1. บทชุมนุมเทวดา 7 ตำนาน

    สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง ปะริตตังนุภาโว สะทา รักขะตูติ ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ

    สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต

    ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ

    ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา


  2. บทชุมนุมเทวดา 12 ตำนาน (บทสมันตา)

    สะมันตา จักกะวาเฬสุ อัต๎ราคัจฉันตุเทวะตา สัทธัมมัง มุนิราชัสสะ สุณันตุ สัคคะโมกขะทังฯ

    สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต

    ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ

    ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา

 

คำแปลบทสวดชุมนุมเทวดา


     ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีเมตตา จงแผ่เมตตาจิต ด้วยคิดว่า ขออานุภาพพระปริตร จงรักษาพระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งนรชน พร้อมด้วยราชสมบัติ พร้อมด้วยราชวงศ์ พร้อมด้วยเสนามาตย์ อย่ามีจิตฟุ้งซ่าน ตั้งใจสวดพระปริตรเถิด

     ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตย์อยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพก็ดี รูปภพก็ดี และภุมมเทวดา ซึ่งสถิตย์อยู่ในวิมานหรือยอดเขาและหุบผา ในอากาศก็ดี ในเกาะก็ดี ในแว่นแคว้นก็ดี ในบ้านก็ดี ในต้นพฤกษาและป่าชัฏก็ดี ในเรือนก็ดี ในที่ไร่นาก็ดี

     เทพยดาทั้งหลาย ซึ่งสถิตย์ตามภาคพื้นดิน รวมทั้งยักษ์ คนธรรพ์ และพญานาค ซึ่งสถิตย์อยู่ในน้ำ บนบก และที่อันไม่ราบเรียบก็ดี ซึ่งอยู่ในที่ใกล้เคียง จงมาประชุมพร้อมกันในที่นี้ คำใดเป็นของพระมุนีผู้ประเสริฐ ท่านสาธุชนทั้งหลาย จงสดับคำข้าพเจ้านั้น

     ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาแห่งการฟังธรรม
     ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาแห่งการฟังธรรม
     ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาแห่งการฟังธรรม

 

ลำดับการสวดชุมนุมเทวดา

  1. บทบูชาพระรัตนตรัย 
  2. บทกราบพระรัตนตรัย 
  3. บทสวดคาถาชุมนุมเทวดา
  4. บทนอบน้อมพระพุทธเจ้า 
  5. บทไตรสรณคมน์ 
  6. บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย 
  7. บทสวดมนต์อื่นๆ ที่เคารพศรัทธา เช่น บทธรรมจักรกัปวัตนสูตร, บทรัตนสูตร, บทพระมหาจักรพรรดิ เป็นต้น

 

ทำไมจึงควรสวดบทชุมนุมเทวดา

     พระพุทธเจ้าตรัสถึง อนุสสติ 10 ซึ่งเป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับปฏิบัติที่มีจริตต่างกันไป หนึ่งในนั้นก็คือ เทวตานุสสติ ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ ซึ่งเทวดาแปลว่าผู้ประเสิรฐ การจะเป็นเทวดาได้นั้น จะต้องประกอบไปด้วยคุณธรรมหลักคือ

  1. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด จึงไม่ทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
  2. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของความชั่ว จึงไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกายวาจาใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

     การระลึกถึงคุณงามความดีของเทวดา จึงเป็นมงคลแก่ผู้ระลึกในแง่ของการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีสัทธาจริตนั่นเอง

 

เทวดามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับมนุษย์

     อ.ซินแส จาก sinsae.com ได้กล่าวว่า ในทางพุทธศาสนาได้ชี้แนวทางแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา "ด้วยการวางท่าทีแห่งเมตตา มีไมตรีจิต อยู่ร่วมกันฉันมิตร เคารพนับถือซึ่งกันและกัน"

     การที่เทพเทวดาจะมาเกี่ยวข้องกับคนนั้น มี 3 ทาง คือ
     1. ด้วยกรรมผูกพัน เช่น บรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง เพื่อน คนรู้จักที่ยังมีความห่วงใย และมีคนส่งบุญไปให้เสมอเป็นสายใยผูกพันกันไว้ 
     2. เทวดามาร่วมอนุโมทนาบุญ เพื่อจะได้เพิ่มบุญบารมีให้กับตัวท่านเอง (กายทิพย์ไม่สามารถสร้างบุญได้เอง) 
     3. ปกป้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้มีบุญชั้นสูง หรือ ผู้ปฏิบัติธรรม เป็นการเพิ่มบุญของท่านด้วย

 

     ทั้งหมดนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การระลึกถึงเทวดา และคุณงามความดีของเทวดา นอกจากจะเป็นการเตือนตนให้กระทำความดี ละอายต่อบาปและการทำบาปแล้ว ยังมีอานิสงส์ช่วยให้เทวดาคุ้มครองและอำนวยอวยพรให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะหากคนผู้นั้นมีพร้อมทั้งทาน ศีล และภาวนาด้วยแล้ว ก็ย่อมบังเกิดสิริมงคลสูงสุดนั่นเอง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

รวมบทสวดมนต์ คาถาเรียกเงิน เรียกทรัพย์ มีโชคลาภ นับเงินรัวๆ! (มีคลิป)

บทสวดมนต์ก่อนนอน พร้อมบทแผ่เมตตา สวดทุกคืน ชีวิตดีขึ้นแน่นอน!

คาถาชินบัญชร แบบเต็ม และแบบย่อ หลวงพ่อโต พรหมรังสี บทสวดมนต์ก่อนนอนยอดนิยม

รวมบทสวดมนต์ คาถาชินบัญชร บทสวดอิติปิโส บทแผ่เมตตา และบทสวดมนต์ต่างๆ

บทสวดมนต์ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร  พร้อมเสียงสวดและคำแปล

 

รวมบทสวดมนต์ บทแผ่เมตตา และคาถาเสริมดวง ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

บทสวดมนต์ ตอนเช้า

 

บทสวดมนต์ ก่อนนอน

 

รวมบทสวดมนต์ต่างๆ

รวม บทแผ่เมตตา

 

รวมคาถา เสริมดวง

 

รวมคาถา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์