รีเซต

ดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน มีความหมายมงคลอย่างไร ต้นพิกุล ควรปลูกทิศไหน ให้เสริมดวง

  • 02 สิงหาคม 2565
  • 5,751

     ทั้งสายบุญ หรือสายมูเตลู เชื่อว่าจะต้องรู้จักหรือเห็น "ดอกพิกุล" อยู่บ่อยครั้ง ทั้ง ดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน เครื่องรางดอกพิกุล ลายดอกพิกุลตามปฏิมากรรม และเครื่องประดับต่างๆ หรือเทรนด์มาแรงอย่าง รอยสักดอกพิกุล อาจารย์ขวัญ วัดทับยายเชียง เป็นต้น รวมถึงอีกไม่น้อยที่นิยมปลูก ต้นพิกุล ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไว้ตามวัดในฐานะไม้มงคล ป้องกันสิ่งไม่ดีต่างๆ เพราะอะไรถึงต้องเป็น "ดอกพิกุล" เรามาดูความหมายมงคลพร้อมที่มากันเลยค่ะ 

 

 

ความหมาย ดอกพิกุล ต้นพิกุล มีที่มาอย่างไร ทำไมจึงมงคล

       ต้นพิกุล (Bullet Wood) เป็นไม้ยืนต้น ที่มีดอกหอม สีขาว ลักษณะกลีบซ้อนเป็นชั้นๆ ดูสวยงาม ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ได้แก่ แก้ว, ซางดง (ภาคเหนือ) ตันหยง (ภาคใต้) พบได้ทั่วประเทศไทย และยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของ จังหวัดกำแพงเพชร ลพบุรี และยะลาอีกด้วย 

พิกุล ไม้หอมแห่งแดนสวรรค์ กับความหมายอันเป็นมงคล

       นอกจากความสวยงามแล้ว ยังเชื่อกันว่า ต้นพิกุล คือต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นฟ้า ดอกพิกุล จึงเปรียบเหมือนดอกไม้แห่งสวรรค์ และเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหมายมงคลมาแต่โบราณ โดยแต่เดิมนิยมปลูกกันตามบ้านเรือน เพราะถือเคล็ดว่า "จะทำให้คนในครอบครัวอายุยืน" เพราะต้นพิกุลเป็นไม้ยืนต้นอายุยืน เนื้อไม้แข็งแรงทนทาน และเป็นต้นไม้ที่มักมีเทวดามาสถิตย์อยู่ จึงเหมือนเป็นการเชื่อมมงคลจากสวรรค์กับโลกมนุษย์เข้าด้วยกันนั่นเอง นอกจากนี้ยังนิยมใช้ดอกพิกุลในการบูชาพระ ปรุงน้ำหอม และทำยารักษาโรคอีกด้วย


ต้นพิกุล ควรปลูกทิศไหน ปลูกวันไหน ให้เป็นมงคล

       ในบางท้องถิ่นก็เชื่อว่าต้นพิกุลไม่ควรปลูกในเขตบ้าน แต่ควรปลูกไว้ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัดวาอารามต่างๆ มากกว่า แต่ไม่ว่าจะเชื่อว่าต้นพิกุลควรปลูกที่ไหน แต่ถ้าเป็นเรื่องทิศในการปลูกต้นพิกุล ตำราพรหมชาติฉบับหลวงระบุไว้ว่า ต้นพิกุล ควรปลูกในทิศหรดี หรือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อความเป็นมงคลและช่วยป้องกันสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ และควรปลูกใน วันเสาร์ หรือ วันจันทร์ รวมถึงให้ผู้หญิงเป็นคนปลูก จะดีที่สุด

 

 ดอกพิกุล ความหมาย ดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน ไม้มงคล เครื่องราง เสริมดวง

ดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทอง คืออะไร มีความหมายว่าอะไร

       ด้วยความมงคลอันลงตัว รวมถึงเมื่อดอกพิกุลแก่แล้ว จะกลายเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ดูคล้ายทองคำ ทำให้ ดอกพิกุล กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์มาแต่โบราณ โดยนิยมสร้างดอกพิกุลจากเงินและทองคำ สำหรับให้องค์ประธานทรงโปรยแจกระหว่างการประกอบพระราชพิธีต่างๆ  เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลงสรง เป็นต้น

        รวมถึงงานพระบรมราชาภิเษกที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงโปรย ดอกพิกุลทอง - ดอกพิกุลเงิน เช่นกัน โดยมีนัยยะคือ "ความเจริญและความมั่นคง" นั่นเอง

ดอกพิกุล กับการเสริมดวง และ การสักลายมือ สำหรับสายมูเตลู

       สำหรับสายมูเตลูรุ่นใหม่ หลายคนอาจเพิ่งรู้จักความหมายดอกพิกุล จากการสักลายมือดอกพิกุลด้วยหมึกสีแดง ที่เชื่อกันว่า ช่วยเสริมเงินทอง โชคลาภ ความมั่งคั่ง

       แต่จริงๆ แล้วผู้คนนิยมใช้ ดอกพิกุล เป็นเครื่องรางเสริมดวงกันมาแต่โบราณเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น

  1. นำดอกพิกุลใส่ผอบ (ผะ-อบ) หรือใส่ชายพกติดตัวไว้ขณะเดินทางไกล เพื่อช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ
  2. นำลวดลายดอกพิกุลมาใช้ตกแต่งสถานที่อันเป็นมงคล เสริมความศักดิ์สิทธิ์
  3. นำลวดลายดอกพิกุลมาใช้ทำเครื่องประดับ เสมือนพกความมั่นคงเจริญรุ่งเรืองติดตัวไปทุกที่
  4. ทำเครื่องรางรูปดอกพิกุลจากเงินหรือทอง ปลุกเสกพกติดตัวไว้เป็นเครื่องรางเสริมทรัพย์ และป้องกันภัยอันตราย เพราะกลีบดอกพิกุล มีจำนวน 32 กลีบ เท่ากับจำนวนอวัยวะของมนุษย์ที่ครบถ้วน จึงถือเคล็ดว่าช่วยให้ทุกสิ่งบริบูรณ์ไม่ขาดหาย แคล้วคลาดปลอดภัยทุกประการนั่นเอง

        รู้แบบนี้แล้ว ใครที่ชื่นชอบ ไม้มงคล หรือ เครื่องรางเสริมดวง ก็ลองมองหาดอกพิกุลในรูปแบบที่คุณชอบกันดูนะคะ ได้ทั้งความสวยงามและความเป็นมงคลอีกด้วยค่ะ

 

รวมบทความเกี่ยวกับ "ไม้มงคล" ที่คุณอาจสนใจ

 

ดวงรายวัน

 

ดวงรายสัปดาห์

 

ดวงรายปักษ์

ดวงรายเดือน

 

เลขมงคล

 

ฤกษ์มงคล