รีเซต

ดิวาลี 2566 หรือ ดีปาวาลี เทศกาลแห่งแสงสว่าง บูชาพระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ

  • 20 มกราคม 2566
  • 5,297 1

      วันดิวาลี 2566 นี้ เริ่มวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ซึ่ง เทศกาลดีปาวาลี หรือ เทศกาลแห่งแสงสว่าง ถือเป็นเทศกาลสำคัญสุดยิ่งใหญ่ของชาวฮินดูเลยทีเดียวค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นวันปีใหม่แล้ว ยังเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีอีกด้วย สำหรับคนเชื้อสายอินเดียแล้ว ถือเป็นเทศกาลที่เก่าแก่ สำคัญ และยิ่งใหญ่ที่สุดเลยทีเดียวล่ะค่ะ ในช่วงเทศกาลนี้ชาวฮินดูจะพากันจุดตะเกียงประทีปบูชาพระแม่ลักษมีให้สว่างไสวไปทั่ว ทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อประกอบกับแสงจันทร์เต็มดวงในช่วงเทศกาลดิวาลีแล้ว บรรยากาศจะเต็มไปด้วยแสงเรืองรองสมกับคำเรียกขานว่า "เทศกาลแห่งแสงสว่าง" นั่นเอง

 

เทศกาลดิวาลี หรือ วันดีปาวาลี มีความเป็นมาอย่างไร

     เทศกาล ดีปาวาลี หรือ ดีวาลี คืออีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู เป็นทั้งวันปีใหม่ของอินเดีย และเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีเทวีอีกด้วย

     ดีปาวาลี หมายถึง วันแห่งแสงสว่าง ในวันนี้ชาวฮินดูจะทำการบูชาพระลักษมีด้วยแสงไฟจากตะเกียงประทีป โดยจุดให้สว่างตลอดวันตลอดคืน มีการสวดมนต์บูชาด้วยโศลกสรรเสริญต่างๆ รวมถึงการเอ่ยพระนาม 108 แห่งพระแม่ลักษมี เพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญและขอพรให้พระแม่ลักษมีประทานความสมบูรณ์แก่ชีวิต

     ใน คัมภีร์รามายณะ กล่าวว่า เมื่อพระรามสู้รบกับเหล่าอสูรจนมีชัยแล้วก็ได้เดินทางกลับมาสู่อาณาจักรอโยธยาพร้อมกับพระลักษณ์และพระนางสีดาชายาแห่งพระองค์ การกลับมาครั้งนี้เป็นการนำชัยชนะมาสู่อาณาจักร จึงมีการเฉลิมฉลองด้วยไฟกันทั่วทั้งอาณาจักรอโยธยา ซึ่งวันที่พระรามกลับมานี้ก็ตรงกับวันดีปาวาลี

     วันดีปาวาลี ยังเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง นั่นหมายถึงเป็นวันแห่งความสุกสว่างของแสงจันทร์ พระจันทร์เต็มดวงในวันดีปาวาลีนี้ ถือเป็นการเต็มดวงครั้งแรกของปีใหม่ เรียกว่า "การติก อมาวาสยา" แม้ในความมืดแสงจันทร์ยังสว่างเฉิดฉาย ก็มิต้องเกรงกลัวภยันตรายใดๆมาแผ้วพาน การบูชาพระแม่ลักษมีในวันพระจันทร์เต็มดวงจึงเป็นการระลึกถึงพระคุณแห่งแสงจันทร์ด้วย

     ในวันดังกล่าวจะมีการบูชาพระแม่ลักษมีเป็นประธาน แต่เทพเจ้าองค์อื่นๆก็จะได้รับการสวดบูชาด้วยเช่นกัน
มีการจุดตะเกียงดินเผา เทียน ประทีป ประดับประดาแท่นบูชาด้วยไฟกระพริบสีสันสวยงาม

      บางบ้านมีการจุดเทียนหรือดวงประทีปในรูปแบบต่างๆ วางเป็นแนวยาวซ้ายขวาให้เป็นถนนจากหน้าบ้านไปสู่หิ้งบูชาของพระแม่ลักษมีที่ตั้งอยู่ในบ้าน เมื่อเสร็จสิ้นการสวดมนต์บูชาพระแม่ลักษมีแล้ว จะมีการจุดพลุ ประทัด หรือตีเกราะเคาะไม้ให้เสียงดังเพื่อข่มอสูร ไล่เอาสิ่งอัปมงคลออกไปจากบ้านเมืองให้เหลือแต่สิ่งที่เป็นมงคลตลอดไป

      นอกจากการบูชาพระแม่ลักษมีแล้ว ในวันดีปาวลีนี้ชาวฮินดูยังทำการปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ทำความสะอาดเครื่องมือหาเลี้ยงชีพให้เอี่ยมอ่อง พ่อค้าแม่ค้าก็จะเปิดสมุดบัญชีเล่มใหม่
ซื้อปากกาใหม่ เปลี่ยนกุญแจตู้เซฟใหม่ ซื้อเสื้อผ้าใหม่สีสันสดสวย ฯลฯ เป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาในปีถัดไป

ขอบคุณเนื้อหาจาก www.siamganesh.com

 

เทศกาลดิวาลี หรือ ดีปาวาลี ปี 2566 ในประเทศไทย มีกิจกรรมอะไรบ้าง

        สำหรับในประเทศไทยก็มีการจัดเทศกาลแห่งแสงสว่างนี้เช่นกันค่ะ โดยจะมีการบูชาพระแม่ลักษมี องค์เทพต่างๆ ตามสถานที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และในกรุงเทพมหานครก็ยังมีการจัดงานเทศกาลในย่านลิตเติ้ลอินเดียในปีที่ผ่านมาอีกด้วยค่ะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก กรุงเทพมหานคร

 

บทความเกี่ยวกับพระแม่ลักษมี และเทพฮินดู ที่คุณอาจสนใจ