รีเซต

วันประสูติเจ้าแม่กวนอิม หรือ วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม 2566 วันอาเนี่ยแซ บูชาเจ้าแม่กวนอิมอย่างไรให้มงคล

  • 03 มีนาคม 2566
  • 9,883 1

        ในแต่ละปี วันประสูติเจ้าแม่กวนอิม หรือ วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ถือเป็น 1 ใน 3 วันสำคัญเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม ที่เรียกว่า วันอาเนี่ยแซ เรามีรายละเอียดดีๆ มาฝากกันค่ะ ว่าในวันเกิดเจ้าแม่กวนอิม 2566 หรือวันอาเนี่ยแซต่างๆ นั้น ในวันนี้ผู้ศรัทธาในองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมจะบูชาอย่างไร มีบทสวดบูชาเจ้าแม่กวนอิมบทไหนบ้าง รวมถึงชี้พิกัดไหว้ขอพรเจ้าแม่กวนอิมที่น่าสนใจ ตามไปไหว้ด้วยกันได้เลยค่ะ

 

 

วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม 2566 คือวันอะไร 

       ในหนึ่งปีจะมีวันอาเนี่ยแซ 3 วัน คือ วันคล้ายวันประสูติ วันคล้ายวันออกบวช และ วันคล้ายวันสำเร็จมรรคผล ซึ่งจะตรงกับวันต่างๆ ตามปฏิทินจันทรคติจีน

  1. วันประสูติเจ้าแม่กวนอิม ตรงกับวัน 19 ค่ำ เดือน 2 ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566
  2. วันคล้ายวันออกบวชเจ้าแม่กวนอิม ตรงกับวัน 19 ค่ำ เดือน 9
  3. วันคล้ายวันสำเร็จมรรคผลของเจ้าแม่กวนอิม ตรงกับวัน 19 ค่ำ เดือน 6 

      

วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม มีที่มาอย่างไร

        พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือที่ชาวไทยเราเรียกติดปากว่า เจ้าแม่กวนอิม คือพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายาน และเป็นองค์เดียวกันกับ พระอวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานในอินเดีย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือกันมาแต่โบราณ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายานที่มีผู้ศรัทธามากที่สุด และเป็นที่รู้จักมากที่สุดไปทั่วโลกอีกด้วย ด้วยความที่พระองค์ทรงมีความเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ซึ่งกล่าวกันว่าท่านได้ตั้งปณิธานไว้ว่า "หากยังมีสัตว์ตกทุกข์ได้ยากอยู่ ก็จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ" นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญที่ชาวจีนยึดมั่นอีกด้วย

 

เจ้าแม่กวนอิม เป็นผู้หญิง หรือเป็น ผู้ชาย

       พระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนานั้น หมายถึงผู้ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยเหลือทรัพย์สัตว์ด้วยความเมตตา เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและนำพาสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นห้วงทุกข์ ซึ่งมีอยู่หลายพระองค์จนนับไม่ถ้วน และเมื่อศาสนาเผยแผ่ไปที่ใดก็มักจะมีการผสานกลมกลืนเข้ากับความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ ไม่มากก็น้อย ดังเช่นเจ้าแม่กวนอิมที่มีรูปลักษณ์ผู้หญิงในดินแดนทิเบต จีน และญี่ปุ่นนั้น แท้จริงแล้วก็คือองค์เดียวกับ พระอวโลกิเตศวร ที่มีรูปลักษณ์เป็นชายในอินเดียนั่นเอง 

       ซึ่งนักวิชาการได้สันนิษฐานว่า เมื่อความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์จากอินเดียแผ่ไปถึงดินแดนจีน ก็มีการผสมผสานเข้ากับตำนานพื้นบ้านเรื่องเจ้าหญิงเมี่ยวซาน จนกลายเป็นพระโพธิสัตว์ในภาคสตรีชื่อกวนอิมขึ้นมา ซึ่งเป็นการผสมผสานที่กลมกลืนเข้ากับความเชื่อและวัฒนธรรมได้อย่างไม่ขัดแย้ง เพราะในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้กล่าวถึงพระอวโลกิเตศวรว่าสามารถแบ่งภาคจุติได้มากมายหลายปาง รวมถึงปางบุรุษและปางสตรี เพื่อโปรดสรรพสัตว์จำนวนมากมายได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ดังนั้นจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่สำคัญเท่ากับความเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ ที่มุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ เป็น "ผู้เฝ้ามองดูด้วยความเมตตากรุณา" หรือ "ผู้ทรงสดับฟังเสียงร้องไห้ของสัตว์โลก" สมดังความหมายของพระนาม "พระอวโลกิเตศวร" นั่นเองค่ะ

 

วันประสูติเจ้าแม่กวนอิม หรือวันเกิดเจ้าแม่กวนอิม กับตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน

       ตามตำนานเล่าขาน “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” คือพระอวโลกิเตศวรที่ทรงจุติเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ของพระเจ้าเมี่ยวจวง ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ พระเจ้าเมี่ยวจวงเป็นกษัตริย์ที่โหดเหี้ยมทารุณมาก แต่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านกลับมีจิตใจเมตตา ถือศีลกินเจ สนใจแต่การปฏิบัติธรรม ไม่สนใจเรื่องการเมืองและไม่ต้องการออกเรือน ทำให้พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงกริ้วมากจึงรับสั่งให้ลงโทษด้วยการทรมานพระธิดาต่างๆ นานา แต่ถึงแม้จะสั่งประหารชีวิตด้วยวิธีไหนก็ไม่สำเร็จ เพราะมีเทพารักษ์คอยคุ้มครองอยู่

      จนกระทั่งมีเสือเทวดาตัวหนึ่งได้นำเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านขึ้นพาดหลังแล้วหนีไปที่เขาเซียงซัน พระเจ้าเมี่ยวจวงเข้าพระทัยว่า เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านถูกเสือคาบไปกินเสียแล้ว จึงไม่ได้ติดใจตามราวีอีก ในเวลาต่อมา เทพไท่ไป๋ได้แปลงร่างเป็นชายชรามาโปรดเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ชี้แนะแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ จนสามารถบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรมในวันที่ 19 เดือน 6 

      ต่อมาพระเจ้าเมี่ยวจวงได้รับผลกรรมที่ก่อไว้ ต้องประชวรด้วยโรคร้ายแรงไม่มียาใดรักษาได้ ยกเว้นจะปรุงจากดวงตาและแขนของทายาท ซึ่งต่างก็ไม่มีใครกล้าสละ ยกเว้นเจ้าหญิงเที่ยวซ่าน ที่พอรู้ข่าวก็รีบเดินทางกลับวังและทรงทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั่นก็คือการสละทั้งดวงตาและแขนเพื่อใช้เป็นยารักษา โดยไม่คิดโกรธเคืองพระบิดาจากเรื่องในอดีตเลยแม้แต่น้อย พระเจ้าเมี่ยวจวงจึงมีอาการดีขึ้นในที่สุด

      ด้วยคุณธรรมและความกตัญญูกตเวทีนี้ ได้แผ่สะท้านฟ้าไปถึงสวรรค์ และสะเทือนดินไปทั่วทั้งโลกมนุษย์ องค์ศากยมุณี หรือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงประทานคืนดวงตาพันดวง และแขนพันข้างแก่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ซึ่งเป็นที่มาของ ปางเจ้าแม่กวนอิมพันเนตร และปางเจ้าแม่กวนอิมพันกร ดังเช่นในปัจจุบัน

 

 

วิธีบูชาเจ้าแม่กวนอิม

      ตามศาลเจ้าหรือวัดดังมักจะมีพิธีบูชาเจ้าแม่กวนอิม เช่น พิธีสวดมนต์ก๊งฮุก คือถวายภัตตาหารเจ ผลไม้ และของหวาน ในช่วงเช้า และสวดมนต์โพวมุ่นปิ้งในตอนค่ำเพื่อเป็นการสรรเสิญบารมีของเจ้าแม่กวนอิม รวมถึงขอขมาและขอพรจากเจ้าแม่กวรอิม เป็นต้น

      และนอกจากนี้ก็ยังสามารถบูชาเจ้าแม่กวนอิมได้เช่นกันตามศรัทธา โดยหลักๆ คือ การทำความดี สวดมนต์ และปฏิบัติธรรม เพื่อระลึกถึงเจ้าแม่กวนอิม และขอพรให้เกิดสิริมงคลกับตนเองและครอบครัวค่ะ

 

คาถาบูชาเจ้าแม่กวนอิม

 

 

วิธีไหว้บูชาเจ้าแม่กวนอิม

1.น้ำชาจีน 1 ถ้วย

2.ผลไม้ 2 สิ่ง  (ไม่ควรถวาย ละมุด มังคุด พุทรา)

3.ดอกบัว 5 ดอก

4.ธูป บูชา 5 ดอก (หากสถานที่ไม่อำนวย สามารถเว้นได้)

 

อ่านวิธีบูชาและพิกัดไหว้เจ้าแม่กวนอิมเพิ่มเติม ได้ที่นี่