รีเซต

ทำไมถึงห้ามบูชาพระพิฆเนศ 3 องค์ โดยสยามคเณศ

  • 30 มกราคม 2566
  • 42,548

     ผู้ที่บูชาพระพิฆเนศ น่าจะเคยได้ยินถึงเรื่อง ห้ามบูชาพระพิฆเนศ 3 องค์ ทำไมต้องดูจำนวนพระพิฆเนศที่บูชาภายในบ้านว่าควรมีกี่องค์ แล้วเหตุผลของจำนวนองค์ในการบูชานั้นเพราะอะไรบ้างวันนี้ สยามคเณศดอทคอม จะเผยให้ได้ทราบความหมายให้ได้ทราบกันค่ะ


ทำไมถึงห้ามบูชาพระพิฆเนศ 3 องค์ ต้องบูชาพระพิฆเนศกี่องค์

มีคนสงสัยในเรื่องการห้ามบูชาพระพิฆเนศ 3 องค์ วันนี้มาอธิบายให้ครับ

เหตุผลที่ห้ามบูชาพระพิฆเนศ 3 องค์

     คือที่อินเดียจะมีคัมภีร์ที่กำหนดข้อปฏิบัติต่างๆ ของครูบาอาจารย์มากมายหลายเล่ม เป็นคำแนะนำสิ่งที่สาธุชนสามารถทำได้และทำไม่ได้ และมีตำราเล่มหนึ่งของกลุ่มศรัทธากลุ่มหนึ่ง ชื่อตำรานิตยะกรรมปัธติอาจารไยนท ตำรานี้ค่อนข้างมีชื่อเสียง มีส่วนหนึ่งระบุว่า

"คฤเห ลึงคทวยัม นารจยัง คเณศตริตยัง ตถา
ศังขทวยัง ตถา สูรโย นารจยัม ศักติตรยัง ตถา
ทเวจักเร ทวารกายาสตุ ศาลครามศิลาทวยัม
เตษามตุ ปูชเนไนว อุทเวคัม ปราปนุยาท คฤเห"

แปลความหมายคือ ในบ้านเรือนไม่ควรมีจำนวนวัตถุบูชาดังนี้

  • ศิวลึงค์ 2 องค์
  • พระพิฆเนศ 3 องค์
  • สังข์ 2 ขอน
  • พระสูรยะ 2 องค์
  • พระเทวี 3 องค์
  • จักร 2 อัน
  • หินทวารกาศิลา 2 ก้อน
  • ศาลิครามศิลา 2 ก้อน

     จำนวนที่ระบุข้างต้นนี้ไม่ได้แปลว่าห้ามมีมากกว่านั้น แต่หมายถึงห้ามมีตามจำนวนนั้น มีน้อยหรือมากกว่าได้ เช่น ศิวลึงค์ ถ้าเรามีในบ้าน 2 องค์ ให้เราไปหามาเพิ่มให้เป็น 3 องค์ขึ้นไป แบบนี้ได้

     ในส่วนของพระเทวีหมายถึง พระเทวีทั้งหมด เช่น ถ้าเรามี พระแม่อุมาเทวี 2 องค์ และ พระแม่ลักษมี 1 องค์ แบบนี้เท่ากับรวมแล้วได้ 3 องค์ ให้หาพระเทวีองค์ไหนก็ได้มาเพิ่ม

     สำหรับองค์พระพิฆเนศ พระสูรยะ และพระเทวี ให้นับเฉพาะองค์ที่มีขนาดความสูงมากกว่านิ้วชี้ของคนเรา แปลว่าองค์ที่ใหญ่กว่ากำปั้นมือของเรา องค์ที่เล็กกว่านั้นไม่นับ

     สมมติว่า คุณมีพระพิฆเนศองค์เล็กๆ 5 องค์ จี้ห้อยคอ 10 องค์ ผ้ายันต์ 2 ผืน องค์ตั้งบูชาขนาดใหญ่ 3 องค์ แบบนี้เท่ากับคุณมีองค์ที่ขัดตามข้อกำหนด คือ คุณมีพระพิฆเนศขนาดใหญ่ 3 องค์ ให้หาองค์ใหญ่มาเพิ่มอีก 1 องค์

ส่วนศิวลึงค์ ให้นับทุกขนาด

     สังข์ และจักร ให้นับเฉพาะที่ตั้งเดี่ยวๆ หรือแบบใส่ในพานวางถวายองค์เทพ ส่วนสังข์หรือจักรที่ถูกปั้นรวมอยู่ในพระกรขององค์เทพอยู่แล้วไม่ต้องนับรวม

    หินทวารกาศิลา และ ศาลิครามศิลา (หินมงคล 2 ชนิดของชาวฮินดู) ให้นับทุกขนาดที่มี

     ข้อกำหนดนี้ให้ใช้ในบ้านเรือนอยู่อาศัย (ที่ที่เราหลับนอน) ถ้าเราอาศัยในอพาร์ทเมนท์หรือคอนโดมิเนียมก็ให้นับเฉพาะห้องของเรา ไม่ใช่ไปนับห้องของคนอื่นในตึกทั้งหมด

     สถานที่อื่นอย่างอาคารสำนักงาน สถานที่ราชการ โกดังเก็บของ โรงงาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล องค์กรต่างๆ สามารถมีพระพิฆเนศ 3 องค์ได้ มากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ไม่อยู่ในข้อกำหนดนี้ เพราะไม่ใช่บ้านเรือนที่พักอาศัย แต่หากเป็นสถานที่ที่มีบ้านพัก เช่น บ้านพักครูในโรงเรียน บ้านพักคนงานในโรงงาน ให้นับเฉพาะในห้องพักของตน

     ถ้าเป็นร้านค้า ร้านอาหาร แต่ไม่มีส่วนของที่พักอาศัยในนั้น เช่น ร้านอาหารในห้าง ก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่คนที่ใช้บ้านตัวเองเปิดเป็นร้านค้าข้างล่าง เปิดเป็นร้านอาหาร หรือใช้บ้านทำเป็นสำนักงาน ก็จะนับด้วย เพราะถือว่าเป็นบ้านพักอาศัย

     ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่เป็นข้อกำหนดของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อกำหนดทางศาสนาที่เคร่งครัด ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ใช่บาปกรรมอะไร กลุ่มครูบาอาจารย์ที่สืบทอดความเชื่อนี้มาเขาแค่เชื่อกันว่าอาจจะเกิดความหงุดหงิดร้อนใจในครอบครัว

     เรื่องนี้ผู้เขียนได้คำอธิบายมาจากท่านอาจารย์ลลิต โมหัน วยาส หัวหน้าคณะพราหมณ์วัดเทพมณเทียร กรุงเทพ เมื่อครั้งที่ผู้เขียนจัดงานมหาศิวะราตรี พ.ศ.2554 ท่านได้เมตตาอธิบายไว้ให้เช่นนี้ และกำชับว่านี่ไม่ใช่ข้อบังคับในทางศาสนา แต่เป็นความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นถ้าทำตามได้ก็ดี แต่ถ้าไม่สะดวกก็อย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นสิ่งให้วุ่นวายใจ

 

ขอขอบคุณเนื้อหาและบทความโดย
สยามคเณศดอทคอม


บทความที่คุณอาจสนใจ


รวมไม้มงคลบูชาเทพฮินดู เทพองค์ไหน บูชาด้วยไม้มงคลอะไรถึงร่ำรวย


วิธีขอพร พระพิฆเนศ ตามวันเกิด พร้อมคาถาบูชาพระพิฆเนศ ปางต่างๆ

หากยังอ่านดวงไม่จุใจ ติดตามอ่านดวงแบบอื่นๆ ได้ที่นี่

ดวงรายวัน

 

ดวงรายสัปดาห์

 

ดวงรายปักษ์

ดวงรายเดือน

 

เลขมงคล

 

ฤกษ์มงคล