รีเซต

วันนี้วันพระ รวมบทสวดมนต์วันพระ พร้อมคำอ่านและคำแปล สวดเสริมดวงให้รุ่งเรือง มีโชคลาภ

  • 16 พฤศจิกายน 2565
  • 72,291 20

      วันพระนี้ เรามี บทสวดมนต์ ดีๆ ที่จะช่วยเสริมสิริมงคลมาฝากค่ะ แต่ละบทล้วนมีความหมายอันเป็นมงคล พร้อมด้วย บทสวดมนต์วันพระ พร้อมคำแปล ที่มีคำแปลภาษาไทยช่วยให้เข้าใจความหมายของบทสวดมนต์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นค่ะ

     หากหมั่นสวดมนต์เป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้จิตใจสงบผ่อนคลายจากความวุ่นวายต่างๆแล้ว ยังช่วยเสริมสิริมงคลให้กับผู้สวด มีความราบรื่นคล่องตัวในชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว

 

วันนี้วันพระ รวมบทสวดมนต์วันพระ พร้อมคำอ่านและคำแปล

บทสวดมนต์วันพระ พร้อมคำอ่านและคำแปล วันนี้วันพระ

 

ตั้งนะโมฯ 3 จบ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 

คำแปล
ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

 

บทสวดมนต์ พระไตรสรณคมน์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

 

สมาทานศีล 5

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และใช้ผู้อื่นฆ่า


อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเว้นจากการพูดไม่จริง

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เว้นจาการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

 

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ 
วิชชาจะระณะสัมปันโน  สุคะโต โลกะวิทู 
อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ 
สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

คำแปล

เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความเจริญจำแกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

 

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม 
สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก 
โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วัญญูหิติ

คำแปล

พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน

 

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ

สุปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุรสะยุคานิ สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย* อัญชะลิกะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

คำแปล
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว
ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว ปฏิบัติสมควรแล้ว คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่
นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

 

บทสวด มงคลสูตร (มังคะละสุตตัง) พร้อมคำแปล


เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง
-ในสมัยหนึ่ง พระอานนท์เถระเจ้า ได้สดับมาว่า

ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน
อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม
-พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ ในพระเชตวนาราม
ของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี

อะถะ โข อัญญะตะรา เทวะตา
-ครั้งนั้นแล เทพยดาองค์ใดองค์หนึ่ง

อะภิกกันตายะ รัตติยา, อะภิกกันตะวัณณา
-มีรัศมีงามยิ่ง เมื่อราตรีปฐมยามผ่านไปแล้ว

เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตวา
-ยังพระเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่างไสวทั่วแล้ว

เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะมิ
-ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จนถึงที่ประทับ

อุปะสังกะมิตวา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตวา เอกะมันตัง อัฏฐาสิ
-ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา, ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ
-แล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคาถาว่า

พะหู เทวา มะนุสสาจะ
-เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก

มังคะลานิ อะจินตะยุง, อากังขะมานา โสตถานัง
-ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดถึงมงคล
คือเหตุให้ถึงความเจริญทั้งหลาย

พรูหิ มังคะละมุตตะมัง
-ของพระองค์ จงตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด ดังนี้

(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า)
อะเสวะนา จะ พาลานัง
-การไม่คบคนพาลทั้งหลาย

ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา
-การคบแต่บัณฑิตทั้งหลาย

ปูชา จะ ปูชะนียานัง
-การบูชาคนที่ควรบูชา

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
- ๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ
-การอยู่ในประเทศอันสมควร

ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา
-ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำไว้แล้ว ในกาลก่อน

อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ
-การตั้งตนไว้โดยชอบธรรม

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

พาหุสัจจัญจะ สิปปัญจะ
-ความเป็นผู้เรียนรู้มาก, การมีศิลปวิทยา

วินะโย จะ สุสิกขิโต
-ความเป็นผู้มีระเบียบวินัยดี

สุภาสิตา จะ ยา วาจา
-การพูดแต่วาจาที่ดี

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

มาตาปิตุอุปัฏฐานัง
-การบำรุงบิดามารดา

ปุตตะทารัสสะ สังคะโห
-การสงเคราะห์บุตร, การสงเคราะห์ภรรยา

อะนากลา จะ กัมมันตา
-การเป็นผู้ทำงานไม่คั่งค้าง

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ
-การให้ทาน, การประพฤติธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐

ญาตะกานัญจะ สังคะโห
-การสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย

อะนะวัชชานิ กัมมานิ
-การทำงานที่ปราศจากโทษ

เอตัมมังตะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

อาระตี วิระตี ปาปา
-การงดเว้นจากความชั่ว

มัชชะปานา จะ สัญญะโม
-การละเว้นจากการดื่มน้ำเมา

อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ
-การไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

คาระโว จะ นิวาโต จะ
-การมีสัมมาคารวะ, การอ่อนน้อมถ่อมตน

สันตุฏฐี จะ กะตัญญุตา
-มีความสันโดษ, มีความกตัญญู

กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง
-การฟังธรรมตามกาลเวลา

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

ขันตี จะ โสวะจัสสะตา
-มีความอดทน, ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย

สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
-การได้พบเห็นสมณะ คือ ผู้สงบระงับ

กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา
-การสนทนาธรรมตามกาลเวลา

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

ตะโป จะ พ๎รัห๎มะจะริยัญจะ
-มีความเพียรเครื่องเผากิเลส, การประพฤติพรหมจรรย์

อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง
-การเห็นอริสัจทั้งหลาย

นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ
-การกระทำพระนิพพานให้แจ้ง

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
-จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งแปด

อะโสกัง วิระชัง เขมัง
-จิตไม่เศร้าโศก, จิตหมดธุลี คือกิเลส,
จิตถึงความเกษม คือปลอดจากโยคะกิเลสทั้งปวง

เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
-๓ ข้อนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

เอตาทิสานิ กัต๎วานะ สัพพัตถะมะปะราชิตา
สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ
-เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันปฏิบัติมงคลธรรม
เครื่องให้ถึงความเจริญเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทุกหมู่เหล่า
ย่อมถึงความสุขสวัสดี ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

ตันเตสัง มังคะละมุตตะมันติ ฯ
-ข้อนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น
ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

 

บทสวดมนต์ โพชฌังคะปะริตตัง

โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
-โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์

วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
-วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา
-สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะทักขาตา
-๗ ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า
ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ตรัสไว้ชอบแล้ว

ภาวิตา พะหุลีกะตา
-อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว

สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
-ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิส๎วา
-ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ
และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก

โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
-จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง

เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
-ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม
ก็หายโรคได้ในบัดดล

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
-ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชา(พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง
-รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแล ถวายโดยเคารพ

สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
-ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

*ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
-ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ องค์นั้น
หายแล้วไม่กลับเป็นอีก

*ออกเสียงว่า ปะ-ฮี-นา

มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
-ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว
ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
-ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

 

บทสวดชัยมงคลคาถา (พาหุงฯ)

พาหุงสะหัส สะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง

ครีเมขะลัง อุทิตะโฆ ระสะเสนะมารัง

ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

พญามารเนรมิตแขนพันแขน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างคิรีเมขล์ พร้อมด้วยพลมารโห่ร้องกึกก้องน่าสะพรึงกลัวเข้ามาผจญ พระพุทธเจ้าทรงชนะพญามารด้วยวิธีทางธรรม มีทานบารมีเป็นต้น ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงชนะพญามารนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

มาราติเร กะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง

โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง

ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

อาฬวกยักษ์ ผู้ดุร้าย หยาบช้า เหี้ยมโหดต่อคนไม่เลือกหน้า ได้เข้ามารุกรานราวีพระพุทธองค์ตลอดทั้งคืน หนักยิ่งเสียกว่าครั้งผจญมาร พระพุทธเจ้าทรงชนะด้วยวิธีการทรมานที่ดีคือขันติบารมี ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงชนะอาฬาวกยักษ์ ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง

ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง

เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

พญาช้างนาฬาคิรีกำลังตกมันเต็มที่จึงดุร้ายมาก ร้องแล่นเข้ามาราวกับไฟป่าโหมไหม้ เหมือนจักราวุธอันแรงร้ายราวสายฟ้าฟาด พระพุทธเจ้าทรงชนะด้วยวิธีรดน้ำคือ เมตตาบารมี ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงชนะพญาช้างนาฬาคิรีนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง

ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง

อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

มหาโจรองคุลิมาลสันดานบาปหยาบช้า ทั้งฝีมือก็ยอดเยี่ยม ถือดาบเงื้อง่าวิ่งไล่ติดตามพระองค์ตลอดทาง 3 โยชน์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนีทรงชนะด้วยการบันดาลฤทธิ์ทางใจ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงชนะมหาโจรองคุลิมาลนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

กัตตะวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา

จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะยะกายะมัชเฌ

สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

นางจิญจมานวิกา ทำมารยาเอาผ้าห่อไม้กลมผูกแนบไว้ที่ท้องแสร้งทำเหมือนหญิงท้องแก่ มาใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธองค์ท่ามกลางชุมนุมชน พระพุทธเจ้าทรงชนะด้วยวิธีที่สงบนิ่ง วางพระองค์สง่าผ่าเผยอยู่เหมือนดวงจันทร์ลอยเด่นท่ามกลางฟากฟ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้ชนะนางจิญจมารวิกานั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกาวาทะเกตุง

วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง

ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

สัจจกนิครนถ์ ผู้เชิดชูหลักทฤษฎีของตนว่าจริงแท้เลิศลอยราวกับชูธงขึ้นฟ้า ซึ่งเป็นการปกปิดปัญญาที่จะรู้ความจริงเสียสิ้น มุ่งมาจะโต้วาทะกับพระพุทธองค์ ทรงจุดประทีปคือ ปัญญา ขึ้นส่องให้เห็นความจริงจนได้รับชัยชนะ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้พิชิตสัจจกนิครนถ์นั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง

ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต

อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

พระพุทธเจ้าโปรดให้พระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นพุทธบุตรทรมานพญานาคนันโทปนันทะผู้มีฤทธิ์มากแต่หลงผิด ด้วยวิธีแสดงฤทธิ์จนชนะ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงชนะนันโทปนันทนาคราชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง

พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง

ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ

พระพุทธเข้าได้ทรงชนะพรหมชื่อพกะ ผู้สำคัญตนว่ามีความบริสุทธิ์ มีรัศมี เรืองอำนาจและมีฤทธิ์ ไม่มีใครยิ่งกว่า เลยเกิดความเห็นผิดไปว่า ชีวิตของพรหมเป็นชีวิตที่เป็นอมตะ จึงโต้แย้งคำสอนของพระพุทธองค์ เปรียบเหมือนคนถูกงูกัดที่ข้อมือ พระจอมมุนีทรงใช้วิธีแสดงพระญาณครอบญาณให้กว้างกว่า ทำให้พรหมหมดความเห็นผิดจึงได้รับชัยชนะ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงชนะพรหมชื่อพกะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฉฐะคาถา โย

วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที

หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ

โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ

นรชนใดไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี น้อมระลึกถึงก็ดี ซึ่งพุทธชัยมงคลคาถาแปดบทนี้เป็นประจำทุกวัน นรชนนั้นจะพึงล่วงเสียได้ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นผู้มีปัญญาและถึงซึ่งความสุขพ้นทุกข์ภัยทั้งหลาย

 

บทสวด มหาการุณิโก(ชัยยะปริตร)

มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลังฯ

ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฑฒะโน เอวัง ตวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล อะปะราชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร อะภิเสเก สัพพะ พุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติฯ สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัมหมะจาริสุ ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง ปะณิธีเต ปะทักขิณา ปะทักขิณานิ กัตวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต

คำแปล

     สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด ด้วยการกล่าวสัจจวาจานี้ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน

     ขอท่านจงมีชัยชนะในชัยมงคลพิธี ดุจพระจอมมุนีผู้ยังความปีติยินดีให้เพิ่มพูนแก่ชาวศากยะ ทรงมีชัยชนะมาร ณ โคนต้นมหาโพธิ์ทรงถึงความเป็นเลิศยอดเยี่ยม ทรงปีติปราโมทย์อยู่เหนืออชิตบัลลังก์อันไม่รู้พ่าย ณ โปกขรปฐพี อันเป็นที่อภิเษกของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ฉะนั้นเถิด

     เวลาที่กำหนดไว้ดี งานมงคลดี รุ่งแจ้งดี ความพยายามดี ชั่วขณะหนึ่งดี ชั่วครู่หนึ่งดี การบูชาดี แด่พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ กายกรรมอันเป็นกุศล วจีกรรมอันเป็นกุศล มโนกรรมอันเป็นกุศล ความปรารถนาดีอันเป็นกุศล ผู้ได้ประพฤติกรรมอันเป็นกุศล ย่อมประสบความสุขโชคดี เทอญ

     ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

     ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

     ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทพยดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอความสุขสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ



บทแผ่เมตตา แบบเต็มและแบบย่อ พร้อมคำแปล เสริมพลังด้านบวก สวดทุกวันชีวิตดี


รวมบทสวดมนต์ คาถาชินบัญชร บทสวดอิติปิโส บทแผ่เมตตา และบทสวดมนต์ต่างๆ สวดแล้วชีวิตเปลี่ยน!

 

รวมบทสวดมนต์ บทแผ่เมตตา และคาถาเสริมดวง ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

บทสวดมนต์ ตอนเช้า

 

บทสวดมนต์ ก่อนนอน

 

รวมบทสวดมนต์ต่างๆ

รวม บทแผ่เมตตา

 

รวมคาถา เสริมดวง

 

รวมคาถา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์