รีเซต

ถวายเทียนพรรษา วันไหน คำถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน ใช้บทสวดอะไร มีอานิสงส์อย่างไร

  • 11 กรกฎาคม 2565
  • 8,911

      ปี 2565 นี้ต้อง ถวายเทียนพรรษาวันไหน กล่าวคำถวายเทียนพรรษาอย่างไร หรือต้องถวายผ้าอาบน้ำฝนด้วยบทไหน และมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง เราได้นำสาระดีๆมาฝากกันอีกเช่นเคยค่ะ ใครที่เป็นสายบุญหรือเตรียมไปทำบุญวันเข้าพรรษานี้ มาติดตามกันได้เลยค่ะ

 

ถวายเทียนพรรษา วันไหน

        วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 เมื่อถึงวันเข้าพรรษาในแต่ละปี พระสงฆ์ในนิกายเถรวาทก็จะอธิษฐานพักประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝน 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น จึงมักเรียกกันว่า “จำพรรษา” 

       ที่มาของวันเข้าพรรษานั้น สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์ได้จาริกไปโปรดสัตว์ในที่ต่างๆ ตามหน้าที่ของสงฆ์ แต่ชาวบ้านบางกลุ่มตำหนิว่าพระสงฆ์ได้เหยียบพืชและข้าวกล้าต่างๆ ของตนเสียหาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาหน้าฝน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ

  • ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มต้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (แต่ถ้าปีไหนมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

  • ปัจฉิมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

      ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างทุกวันนี้ พุทธศาสนิกชนก็จะพากันนำเทียนหรือประทีปให้แสงสว่างต่างๆ ไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ จึงเกิดเป็นประเพณีการ "ถวายเทียนพรรษา" นับตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

       ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีการใช้ไฟฟ้าแล้ว ทำให้หลายคนหันมาถวายหลอดไฟ โคมไฟ หรือไฟฉาย แทน แต่การถวายเทียนพรรษาก็ยังคงเป็นที่นิยม เพราะใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น จุดธูปเทียนภายในวัด หรือว่าวัดบางแห่งก็อาจจะยังขาดแคลนไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงในปัจจุบันการถวายเทียนเข้าพรรษา ก็ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของชาวไทย และเป็นงานสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวในแต่ละปีอีกด้วย

 

คำถวายเทียนพรรษา 

      ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ

คำแปล คำถวายเทียนพรรษา 

      ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอมอบถวาย เทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวารไว้ ณ พระอุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษานี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ ฯ

 

การถวายเทียนพรรษา มีอานิสงส์อย่างไร     

  1. ทำให้เป็นผู้มีปัญญา คิดอะไรเรียนอะไรก็มีสติปัญญารุ่งเรือง แจ่มใส 
  2. ทำให้ชีวิตสว่างไสวไม่อับจน รุ่งเรืองประดุจแสงเทียน
  3. เมื่อเจออุปสรรคปัญหาใดๆ จะคลี่คลายไปได้ เสมือนเทียนที่ส่องสว่างทำลายความมืดให้หมดไป
  4. มีกัลยาณมิตรและบริวารที่ดีแวดล้อม
  5. เป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
  6. เมื่อจากโลกนี้แล้วไปจะมีรัศมีกายทิพย์อันสว่างไสว 
  7. เมื่อถึงอายุขัย ย่อมเป็นผู้ไปสู่สุคติ 
  8. เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดทิพยจักขุญาณ ดังเช่น พระอนุรุทธะ ที่เป็นผู้เลิศในทิพยจักขุญาณ (ตาทิพย์) เนื่องจากเคยถวายประทีปไว้มากในอดีตชาติ 

 

 

คำถวายผ้าอาบน้ำฝน สวดอย่างไร มีอานิสงส์อย่างไร

      นอกจากการถวายเทียนเข้าพรรษาแล้ว การ "ถวายผ้าอาบน้ำฝน" ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชาวพุทธยังนิยมหวายกัน ในสมัยก่อนมีความสำคัญในฐานะผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำฝน แต่ในปัจจุบันที่มีห้องน้ำมิดชิดแล้ว ก็ยังคงถวายกันอยู่ โดยบางแห่งก็ดัดแปลงเป็นการถวายผ้าขนหนูผ้าเช็ดตัวแทน เป็นต้น โดยมักถวายกันก่อนเข้าพรรษา

     ดังที่พระพุทธองค์เคยตรัสว่า "ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ" จึงเชื่อกันว่าการถวายผ้าอาบน้ำฝนจะทำให้เป็นผู้มีวรรณะงาม แม้ตายจากโลกมนุษย์ไปแล้วก็จะบังเกิดกายทิพย์ที่มีรัศมีแห่งบุญสว่างไสวอย่างยิ่ง

คำถวายผ้าอาบน้ำฝน พร้อมคำแปล

อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

(ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ)

 

บทความที่คุณอาจสนใจ